ต่อก้าว ต่อยอดให้ “ต่อกล้าอาชีวะ” ติดอาวุธเชิงธุรกิจ การสื่อสารและการออกแบบผลิตภัณฑ์

Facebook
Twitter
เนื้อหาและภาพประกอบ | กานตวี ปานสีทา และ สิทธิชัย ชาติ เนคเทค สวทช.
เนคเทค สวทช. ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัด Workshop “การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความรู้เชิงธุรกิจ” ซึ่งเป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa) เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน คณาจารย์ ในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความสามารถในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ โดยนำองค์ความรู้ ทักษะที่จำเป็น เพื่อฝึกเทคนิคการคิดในเชิงธุรกิจ สามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายด้านการตลาด ผลิตผลงานต่อยอดไปสู่การใช้งานได้จริง รวมถึงได้ฝึกภาคปฏิบัติในการสร้างสรรค์ด้านการออกบบผลิตภัณฑ์ ฝึกทักษะการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การทำกลยุทธ์ด้านการตลาดยุคใหม่อีกด้วย กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
TK-wotkshop2 (1)
ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ให้เกียรติกล่าวเปิดกิจกรรม ความว่า “จากค่าย workshop ที่ผ่านมา แต่ละผลงานมีความก้าวหน้าในการพัฒนาจนใกล้จะสำเร็จ แต่อาจจะมีบางมุมที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงพัฒนาผลงานก่อนการใช้งานจริง เช่น การประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร รวมทั้งความต้องการของผู้ใช้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการจัดค่ายครั้งนี้ จะเป็นอีกช่วงเวลาในการเติมเต็มส่วนที่ทีมผู้พัฒนาจะได้สอบถาม เรียนรู้ จากวิทยากรและทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงของ สวทช. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานต่อไป”
การ Workshop ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และธุรกิจ โดยน้อง ๆ ทั้ง 15 ทีมที่เข้ารอบในโครงการฯ จะได้เรียนรู้ทักษะสำหรับต่อยอดผลงานไปสู่การใช้งานได้จริง ได้ฝึกภาคปฏิบัติสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ผ่านหัวข้ออบรมต่อไปนี้

“Digital Marketing กลยุทธ์การตลาด” โดย คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มีมุมมองว่า พฤติกรรมผู้บริโภค ประสบการณ์ลูกค้า และการออกแบบเนื้อหาคือ หัวใจ สู่การรุกการตลาดให้ประสบความสำเร็ ดังนั้น การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง แก้ปัญหาได้ตรงจุด จะสามารถสร้างผลงานตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างแท้จริง

“ทักษะการสื่อสาร” โดย คุณชญาน์ทัต วงศ์มณี VP Content Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเสริมอาวุธ ทักษะการสื่อสาร เรียงร้อยเรื่องราวของผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอผลงานสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงประเด็นและชัดเจน โดยกล่าวถึง การเปลี่ยนเป้าหมายของการสื่อ จาก “วิธีการสื่อสารที่ทำสนใจ” เป็น “ทำอย่างไรจึงจะมอบคุณค่า มอบประโยชน์ให้แก่ผู้ฟังมากที่สุด” เมื่อเราคิดถึงประโยชน์ของผู้ฟังเป็นสำคัญ เราจะตั้งใจทุ่มเทเพื่อผู้ฟัง และออกแบบการสื่อสารให้เหมาะสมเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นผู้ฟังรับรู้ถึงประโยชน์ คุณค่า และความทุ่มเทจากการสื่อสารนั้น ๆ ทำให้เราสามารถสื่อสารได้นาน ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

“ออกแบบด้วยความใส่ใจ ผลิตภัณฑ์น่าใช้” โดย ผศ.ดร. อรช กระแสอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมความรู้ด้านการออกแบบนวัตกรรมให้กับนักเรียนและอาจารย์ ด้วยหลักคิดใช้สอยง่าย เข้าถึงผู้ใช้ง่ายสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ฝึกศึกษาโจทย์ของผู้จำลองชิ้นงาน

“ทรัพย์สินทางปัญญา รู้ก่อนรักษาสิทธิ์ได้ก่อน” โดย คุณรัตนากร แสนศักดิ์ ที่ปรึกษา งานจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IPM) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ว่าด้วยเรื่องราวของทรัพย์สินทางปัญญาในงานประดิษฐ์ ที่ต้องรู้เพื่อรักษาสิทธิ์อันพึงมีในผลงานการประดิษฐ์คิดค้นที่เกิดจากปัญญาในการสร้างสรรค์ของตน โดยทรัพย์สินทางปัญญา ต้องมีการจดทะเบียนหรือยื่นขอการรับสิทธิ์ทางปัญญาในผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ ในแต่ละชนิดด้วย ซึ่งจะมีวิธีและกระบวนการที่แตกต่างกัน

“รู้จัก รู้ใช้ เครื่องมือบริหารโครงการ ด้วย S-curves in Project Management” โดย ดร.เจษฎา ขัดทองงาม นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล (IST) เนคเทค สวทช. ได้แนะนำแนวทางการใช้เครื่องมือ S-curves เสริมในการพัฒนาผลงานที่จะช่วยติดตาม กำกับและแก้ไข ให้โครงการประสบผลตามเป้าหมายที่คาดหวัง” ด้วยเป้าหมายที่ตั้งไว้อาจไปไม่ถึง หากขาดเครื่องมือติดตามที่ดี S-curves อีกทางเลือกของการช่วยประเมินแผนงานในระยะเวลาที่กำหนด

โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2564 (Agritronics @ R-Cheewa) ดำเนินการโดย งานพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

โครงการฯ เปิดโอกาสให้เยาวชนอาชีวะ ได้รับประสบการณ์ตรงในการนําองค์ความรู้ทักษะในสายวิชาชีพ รวมถึง นําเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้สร้างสรรค์พัฒนาผลงาน สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงให้กับเกษตรกรในชุมชน และช่วยปรับปรุงพัฒนากระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ นับเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทั้งระดับ ปวช. และปวส. ให้มีสมรรถนะการใน ทำงาน ก่อนที่จะเข้าสู่สถานประกอบการหรือเติบโตไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา และทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย