วงจรชีวิตเทคโนโลยี : Technology Life Cycle

Facebook
Twitter
tech-life-cycle
บทความ | ชัชวาล สังคีตตระการ
ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU) หน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRU)
เรียบเรียง | นัทหทัย ทองนะ

ในสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตลอดเวลาเพื่อให้เหมาะกับบริบทการแข่งขันในยุคปัจจุบัน จากที่เคยเป็นที่นิยมในอดีต อาจลาลับไปจากโลกนี้แล้วเนื่องจากไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมปัจจุบัน เช่น โทรเลขซึ่งเคยเป็นเทคโนโลยีที่รวดเร็วในอดีต แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว เมื่อมีโทรศัพท์เกิดขึ้นมา และถูกพัฒนาด้วยราคาที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึง เทคโนโลยีเก่าเดิมก็ต้องพ่ายแพ้และตายไปในที่สุด

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นสื่อให้เห็นว่า เทคโนโลยีก็มีวงจรชีวิต เรียกว่า Technology Life Cycle (TLC) แบ่งออกเป็น 4 ช่วง

TLC
– ช่วงแรก คือ ช่วงวิจัยและพัฒนา (Research and Development)
เป็นช่วงที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทดสอบ ทดลอง ทั้งตัวเทคโนโลยีเอง รวมไปถึงตลาดและความต้องการของผู้คนด้วย อาจต้องใช้เวลาและการลงทุนลงแรงไปค่อนข้างมาก แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มมีศักยภาพเพียงพอในระดับหนึ่ง ตลาดเริ่มเกิดความต้องการ ก็จะเข้าสู่ช่วงที่สอง
– ช่วงที่สอง คือ ช่วงพุ่งทะยาน (Ascent)
คือช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มเป็นที่รู้จัก ความต้องการ ความคาดหวังก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นช่วงที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องรวดเร็วทันสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้เก็บเกี่ยวดอกผลที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ ช่วงดังกล่าวนี้ จะสั้นหรือยาวเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ยิ่งมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่จะขาดเสียไม่ได้ด้วยแล้ว ช่วงนี้ก็จะยิ่งทอดยาวออกไป แต่เมื่อความเจริญรุ่งเรืองนี้ดำเนินไปจนสุดทาง ก็จะถึงจุดที่แรงพุ่งทะยานเริ่มแผ่ว การเติบโตเริ่มลดลงก็ถือว่าเข้าสู่ช่วงที่สาม
– ช่วงที่สาม คือ ช่วงอิ่มตัว (Mature)
ถ้าเป็นสัตว์ก็คงเรียกช่วงนี้ว่าช่วงโตเต็มวัยแล้วนั่นเอง ความคาดหวังความต้องการของตลาดก็เริ่มนิ่ง ทรงตัว แม้มีการกระตุ้นก็อาจกระเตื้องบ้าง แต่ก็จะกลับไปนิ่งอีกเหมือนเดิม ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในพิสัยแคบๆ เหมือนฟันปลา หากประคับประคองให้ดีก็อาจยื้อชีวิตออกไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไปจนเต็มที่แล้วก็จะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตเทคโนโลยี
– ช่วงที่สี่ คือช่วงถดถอย (Decline)
แม้จะเพิ่มแรงกระตุ้นไปเท่าไรก็ไม่กระเตื้องอีกต่อไป การเติบโตติดลบ ความต้องการของตลาดลดลงเรื่อยๆ จนหมดความต้องการ หมดความสำคัญและตายไปในที่สุด
TLC
(อ้างอิงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Technology_life_cycle)

ลองหลับตานึกถึงภาพของการเกิดขึ้น การเติบโตและการดับสิ้นไปของเทคโนโลยี จะพบว่าเส้นกราฟชีวิตของเทคโนโลยีก็จะมีรูปร่างคล้ายกับตัว S ในภาษาอังกฤษ เราจึงมักเรียกวงจรชีวิตนี้ว่า S-Curve หรือเส้นโค้งรูปตัวเอส และทุกเทคโนโลยีก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะมีลักษณะวงจรชีวิตเป็น S-Curve วงจรชีวิตสินค้าผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) รวมถึงวงจรชีวิตของธุรกิจ (Business Life Cycle) ก็มีลักษณะเป็น S-Curve ทั้งสิ้น แต่หากต้องการให้เทคโนโลยีนั้น คงอยู่ต่อไป จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้ทันต่อกระแสความนิยมและบริบทของสังคมจึงจะอยู่รอด