Smart Factory IoT Challenge 2020 ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ตอบโจทย์ Industry 4.0

Facebook
Twitter

 

smartfactory-iotchallenge2020
โค้งสุดท้าย ! Smart Factory IoT Challenge 2020 รอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันที่นำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจับคู่กับนักพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยี IoT มายกระดับกระบวนการภายในโรงงาน เตรียมความพร้อมสู่การก้าวเป็นโรงงานอัจฉริยะ

โครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมจัดโครงการฯ

มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และแก้ปัญหาจริงในโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค Industry 4.0 ด้วยเทคโนโลยี IoT จะช่วยบูรณาการข้อมูลในภาคการผลิต นำไปสู่การควบคุม ปรับปรุง หรือวางแผนการกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสม สร้างคุณค่าให้กับกระบวนการผลิตและการบริการลูกค้าได้อีกด้วย

โดย Smart Factory IoT Challenge 2020 ได้เริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครโรงงานและนักพัฒนาที่สนใจตั้งแต่ปลายปี 2562 และได้คัดเลือกสู่ 9 โรงงานที่มีโจทย์ชัดเจนน่าสนใจ พร้อมคัดสรรนักพัฒนาที่มีผลงานและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ เพื่อจับคู่ระหว่างโรงงานและนักพัฒนานำไปสู่การฟอร์มทีมแข่งขันและเริ่มต้นลงมือพัฒนาผลงาน

สำหรับ 9 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบแรกนั้น เนคเทค-สวทช. ได้สนับสนุนเงินทุนทีมละ 20,000 บาท พร้อมเครื่องมือพัฒนาผลงานวิจัยของเนคเทค-สวทช. ให้ทีมนำไปใช้ในผลงาน ได้แก่ แพลตฟอร์ม NETPIE IoT และอุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) ดังนี้

[1] NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) หรือ แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง

NETPIE เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี IoT มีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลเซนเซอร์ หน้าจอแสดงผล การแจ้งเตือน การจัดการอุปกรณ์และข้อมูล และอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การพัฒนาอุปกรณ์หรือระบบ IoT กลายเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว ทั้งยังเสถียรและปลอดภัย

[2] uRTU (Universal Remote Terminal Unit) หรือ หน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล

uRTU เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดและสั่งการอุปกรณ์ได้หลายประเภท โดยสามารถเพิ่มหรือลดจำนวน Input/Output ด้วยการเพิ่มหรือลดโมดูลขยายของ uRTU ได้ตามความต้องการ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น ระบบเฝ้าระวัง ระบบอ่านค่าข้อมูลเพื่อควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ในโรงงาน และระบบอ่านค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลยัง Server

นอกจากนี้ทีมที่ผ่านรอบแรกทั้งหมดยังได้รับการอบรมวิธีการใช้งานแพลตฟอร์ม NETPIE และอุปกรณ์ uRTU ในการสร้างระบบ IoT อีกด้วย

ระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ทีมผู้เข้าแข่งขันต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง การจัดหาอุปกรณ์ และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของโรงงาน และผ่านการกลั่นกรองคัดเลือกผลงานจำนวน 2 ครั้ง โดยการคัดเลือกผลงานครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนั้น คณะกรรมการจากเนคเทค-สวทช. ได้เดินทางไปยังโรงงานเพื่อตรวจการทำงานของผลงานที่ติดตั้งใช้งานจริง โดยมีทีมที่ยืนหยัดสามารถพัฒนาผลงานผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวนทั้งสิ้น 7 ทีม ได้แก่

  1. ทีม BNSTH คู่กับ บริษัท นิธินัตถ์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
  2. ทีม บนเมฆ คู่กับ บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
  3. ทีม Robot of Things คู่กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.เจ. ซัพพลาย
  4. ทีม iCube คู่กับ บริษัท ป๊อบปูล่าร์ แพค จำกัด
  5. ทีม HCRL2020 คู่กับ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
  6. ทีม Pied Piper คู่กับ บริษัท ไทยก้าวไกลกรุ๊ป จำกัด
  7. ทีม Robot System คู่กับ บริษัท ซัพพลาย ไอคอน จำกัด

การแข่งขันโค้งสุดท้าย ! สู่ทีมผู้คว้าชัยชนะ Smart Factory IoT Challenge 2020

ล่าสุดโครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ได้ดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ

smartfactory-iotchallenge2020
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค ประธานเปิดการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 รอบชิงชนะเลิศ กล่าวว่า

“เนคเทคมีวิสัยทัศน์ในการผลิตผลงานวิจัยที่เป็นฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ โดย Smart Factory เป็นหนึ่งในแปดยุทธศาสตร์การดำเนินงานหลักของเนคเทค เราเห็นว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก แม้ไม่ใหญ่ที่สุดประมาณ 19 ล้านคนที่อยู่ในภาคของอุตสาหกรรมแต่สามารถผลิต GDP ได้สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะที่ผ่านมาและในอนาคต

การสร้างนวัตกรรมได้ด้วยตัวเองตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เป็นเป้าหมายสำคัญและท้าทายของการก้าวสู่ Smart Factory เราต้องการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยี พร้อมด้วยนักพัฒนาที่มีความสามารถอันเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการก้าวไปสู่ Smart Factory ด้วยการลงทุนที่เข้าถึงได้ โดยเนคเทคได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ดังเช่นกิจกรรมประกวด Smart Factory IoT Challenge 2020 ในวันนี้”

โดยการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศใช้รูปแบบ Pitching คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับผู้บริหารและนักวิจัยทรงคุณวุฒิจากเนคเทค-สวทช.

smartfactory-iotchallenge2020
smartfactory-iotchallenge2020

ผลการแข่งขัน

smartfactory-iotchallenge2020
smartfactory-iotchallenge2020
รางวัลชนะเลิศ | ทีม Pied Piper คู่กับ บริษัท ไทยก้าวไกลกรุ๊ป จำกัด
ชื่อผลงาน | Smart Cooling Tower System Developmen using uRTU and NETPIE
โรงงานได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
นักพัฒนาได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท

ทีม Pied Piper ได้ติดตั้ง Sensor เชื่อมต่อกับ uRTU เพื่อรับค่าพารามิเตอร์ของระบบ Cooling Tower และเชื่อมต่อกับ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Rasberry Pi) ในการประมวลผลและควบคุมการทำงานของระบบ แล้วส่งข้อมูลไปยัง NETPIE IoT Platform เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานของระบบ Cooling Tower แบบ Real-time โดยระบบสามารถแจ้งเตือนความผิดปกติ ทำให้ตัดสินใจซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพในการผลิต ลดภาระการทำงานด้านการตรวจสอบระบบ ไปจนถึงอนุรักษ์พลังงาน

smartfactory-iotchallenge2020
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง | ทีม HCRL2020 และ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)
ชื่อผลงาน | การเชื่อมเครื่องจักรเพื่อคำนวณค่า Overall Equipment Effectiveness
โรงงานได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
นักพัฒนาได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท

ทีม HCRL2020 ได้พัฒนาผลงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการวัดประสิทธิภาพการทำงาน (OEE) นั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยเชื่อมต่อ uRTU เข้ากับ Sensor และระบบ Network และเชื่อมต่อ Metal Detector และ Check Weigher เข้าสู่ระบบ Network เชื่อมต่อไปยัง IoT Platform เพื่อรับข้อมูลจากเครื่องจักร และแสดงผลผ่าน Dashboard ทำให้ทราบข้อบกพร่องของเครื่องจักรและกระบวนการเพื่อการปรับปรุงแผนการซ่อมบำรุงและพัฒนาในอนาคต มาพร้อมฟังก์ชันการแจ้งเตือนสถานะของเครื่องจักรผ่าน Line Notification อีกด้วย

smartfactory-iotchallenge2020
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง | ทีม iCube และ บริษัท ป๊อบปูล่าร์ แพค จำกัด
ชื่อผลงาน | การบริหารและจัดการข้อมูลการผลิต
โรงงานได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ
นักพัฒนาได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

ทีม iCube ได้พัฒนาระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนของพนักงานในแง่ของการกรอกข้อมูลโดยการใช้ iCubeForm แทนการกรอกข้อมูลลงกระดาษ และสามารถติดตามข้อมูลกระบวนการผลิตได้อย่างทันท่วงทีผ่าน NETPIE Freeboard พร้อมความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลอย่างระเบียบและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลผ่าน iCubeServer

โครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด และบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด

บทความที่เกี่ยวข้อง