วันที่ 7 เมษายน 2560 ณ ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน….ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “การตรวจวัดแอลกอฮอล์ เสียง และการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์” เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนผู้ใช้ถนนและส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น โดยมี ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) พันตำรวจเอกชัยกฤต โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการ ๕ กองบังคับการตำรวจจราจร และ ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)/สวทช. ดำเนินรายการ โดย นายสืบสกุล พันธ์ดี ผู้ดำเนินรายการจากสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี
นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ การเก็บรักษา การสอบเทียบ การซ่อมบำรุง เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการวัด เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงและพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มว. ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เรื่อยมา ยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ถนนและส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ด้านมาตรวิทยามาบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้บรรลุผลในการแก้ปัญหาด้านความถูกต้อง ปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม มว.จึงได้ร่วมสานต่อการดำเนินโครงการ “การสร้างความมั่นใจในการใช้เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ” และ “การตรวจวัดรถยนต์ควันดำ – เสียงดัง” ด้วยการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความรู้และฝึกอบรมวิธีการวัดที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ตลอดจนวิธีการดูแลรักษาเครื่องมือวัดให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สามารถนำผลการวัดไปใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เกิดความเที่ยงธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อไป
ด้าน พันตำรวจเอก ชัยกฤต โพธิ์อ๊ะ ผู้กำกับการ ๕ กอบบังคับการตำรวจจราจร เปิดเผยว่า การบังคับใช้กฎหมายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังคงเน้นในด้านของความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งสาเหตุหลักของการสูญเสียทั้งทางร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน หนีไม่พ้นการดื่มสุรา แม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้ในการควบคุมปัญหาการดื่มสุรา เช่น พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาควบคุมการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้มีมาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้น สำหรับความผิดในการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับขี่ยานพาหนะ เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเพิ่มโทษที่ลงแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะในขณะเมาสุราหรือเมาอย่างอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ นอกจากนั้นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ยังเพิ่มบทบัญญัติกำหนดข้อสันนิษฐานกรณีผู้ขับขี่เมาสุรา อันจะเป็นมาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่รถขณะเมาสุราหรือเมาอย่างอื่น
โดยการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจจะวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจได้ถูกต้อง ต้องใช้ลมหายใจจากส่วนลึกของปอดที่สัมผัสกับเส้นเลือดฝอยในปอด เพื่อจะให้ได้ค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง ผู้ผลิตได้ออกแบบให้เครื่องวัดฯ เมื่อถูกเป่าลมหายใจเข้าเครื่องต่อเนื่องไปได้ระยะหนึ่ง ความแรงในการเป่าจะลดลง สูบไฟฟ้าในเครื่องฯ จะเก็บตัวอย่างลมหายใจประมาณ 1 ซีซี แบบอัตโนมัติ ในกรณีที่เครื่องไม่ได้ออกแบบให้เก็บตัวอย่างลมหายใจแบบอัตโนมัติ การตรวจวัดต้องให้ผู้ถูกตรวจเป่าลมหายใจเข้าเครื่องอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ทำการตรวจวัด จะนับ 1 ถึง 5 ในใจอย่างช้าๆ เมื่อนับครบแล้ว จึงกดปุ่มรับตัวอย่าง เพื่อให้สูบไฟฟ้าเก็บตัวอย่าง เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่สามารถใช้ผลเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต้องเป็นเครื่องแบบตรวจยืนยันผล และได้รับการทดสอบจากหน่วยงานราชการที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ ตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ มีใบรับรองการสอบเทียบและมีสติ๊กเกอร์รับรองในช่วงเวลาติดอยู่ที่เครื่อง สำหรับการตรวจจับและควบคุมรถที่มีควันดำและเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน เพราะขณะนี้ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถบิ๊กไบค์และรถแต่ง ซึ่งรถเหล่านี้มักมีปัญหาเสียงโดยจากการวัดบางคันมีค่าเสียงดังกว่า 150 เดซิเบล ทั้งที่กฎหมายบังคับให้มีค่าเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล ส่วนรถเก่าค่าเสียงไม่เกิน 100 เดซิเบล เท่านั้น
ส่วนกระแส ม. 44 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะและแคปของรถ รวมทั้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ว่าในช่วงนี้จะยังไม่มีการจับปรับรถกระบะ ทั้งที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะหรือในแคปของรถ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงข้อกฎหมาย ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้น เจ้าหน้าที่จะยังคงบังคับใช้กฎหมายด้วยการจับปรับผู้โดยสารเบาะคู่หน้าต่อไป ขณะที่ผู้โดยสารด้านหลังหากพบว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เจ้าหน้าที่จะตักเตือนก่อน แต่สำหรับรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถตู้และรถโดยสารประจำทาง จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากฝ่าฝืนจะถูกจับปรับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด แกผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้กับผู้ขับขี่รถสาธารณะ”
ในส่วนของ ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยและวิเคราะห์กระบวนการเชิงคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)/สวทช. กล่าวถึงการพัฒนา SafeMate ว่า ทีมนักวิจัยจากเนคเทค ได้วิจัยพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ และเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2557 โดยหวังจะให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการป้องกันอุบัติเหตุในด้านการจราจรด้วยรถยนต์ และรถโดยสารสาธารณะ SafeMate เป็นระบบที่ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เน้นความสะดวก ใช้งานและเข้าถึงง่าย โดยใช้เซ็นเซอร์ที่มีอยู่บนสมาร์ทโฟนที่เรียกว่า Accelerometer sensor ซึ่งสามารถประมวลผลเหตุการณ์ในการขับขี่แบบเรียลไทม์ เช่น การเบรก การเร่ง เปลี่ยนเลน และเลี้ยวกะทันหัน สามารถแจ้งเตือน (alert) เมื่อมีการขับขี่แบบอันตราย เช่น แจ้งเตือนด้วยเสียง แจ้งเตือนแบบไอคอนบนแผนที่ มีเครื่องหมายตกใจบนหน้าจอ เครื่องสั่น เมื่อขับเร็วเกิดความเร็วที่กำหนด นอกจากนี้ SafeMate ยังมีระบบคิดคะแนนประเมินการขับขี่ เก็บประวัติการขับรถพร้อมแสดงข้อมูลรายสัปดาห์
สำหรับในปีนี้ ทีมนักวิจัยเนคเทค ได้พัฒนาฟังก์ชั่นที่จะช่วยให้ครอบครัว และคนใกล้ชิด สามารถรับรู้ข้อมูลการเดินทาง แบบเรียลไทม์ เพื่อให้คนที่รอคอย ไม่ต้องถามว่า “ถึงไหนแล้ว” เพราะผู้ใช้งานสามารถแชร์ url link สำหรับติดตามตำแหน่งได้ขณะเดินทางผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไลน์, เอสเอ็มเอส, เฟซบุ๊ค แมสเซส และอีเมล์ โดยดูตำแหน่งจาก web browser ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันเพิ่ม ใช้งานได้ทั้งเป็นคนขับเองหรือเป็นคนนั่ง และผู้โดยสารรถ (สาธารณะ taxi รถเมล์ รถตู้) นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถถ่ายรูปรถโดยสารที่นั่งอยู่ หรือกรอกข้อมูลเกี่ยวกับรถโดยสาร เพื่อไปใช้แจ้งให้คนที่รอคอย ครอบครัว และคนใกล้ชิดได้ทราบและไม่ต้องคอยถามและหากเกิดความผิดปกติในระหว่างการเดินทาง ก็สามารถตรวจสอบและแจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ที่สำคัญข้อมูลที่ได้จากการใช้งาน SafeMate นี้ จะช่วยให้นักวิจัยสามารถสร้างโมเดลการจราจรที่ปลอดภัยได้ในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด SafeMate ได้ที่ Google play และ App Store เพื่อช่วยรณรงค์ทุกความห่วงใย บนท้องถนนในช่วงวันหยุดยาว ในเทศการสงกรานต์ นี้
ดูข้อมูล SafeMate เพิ่มเติมได้ที่
วันที่เผยแพร่ 12 เมษายน 2560 14:40