ตัวแทนเยาวชนไทยคว้า 6 รางวัลใหญ่ จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF ครั้งที่ 69) โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เข้าร่วมนำเสนอโครงงาน 1,792 โครงงาน จาก 81ประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2561 ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF 2018 ในครั้งนี้ เป็นเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน จากเวที “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 20” (Young Scientist Competition: YSC 2018) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) และเวที “ค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ” (Thai Young Scientist Festival: TYSF) ดำเนินการโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ Intel Foundation ซึ่งเด็กไทยสามารถคว้ารางวัลใหญ่ (Grand Awards) 3 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Awards) อีก 3 รางวัล พร้อมเงินรางวัลรวม 12,000 เหรียญสหรัฐ ดังนี้
1.รางวัล Grand Awards:Third Place Award ใน Category: Animal Sciences
- รางวัลที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์
- โครงงานเรื่อง “การพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง (Increasing the Honey Productivity of Stingless Bees (Tetragonula fuscobalteata) by Creating Pseudo Honey Pots)
- ผู้พัฒนา นายวิรชัช ศรีปุริ นางสาวจิตรลดา ไชยชมภู และ นายบุณยกร สอนขยัน
- อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุทธิพงษ์ ใจแก้ว
- โรงเรียน ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
น้องๆ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “จริง ๆ แล้วที่บ้านทำสวนอยู่แล้ว โดยปกติแล้วเกษตรกรจะเลี้ยงตัวชันโรงเพื่อให้ผสมเกสรให้ แต่ตัวชันโรงจะทำรังนาน เราจึงคิดหาวิธีทำถ้วยน้ำผึ้งเทียมมาไว้ในรังเพื่อช่วยลดภาระของตัวชันโรง เมื่อชันโรงว่างก็จะออกไปผสมเกสรมากขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” นอกจากนั้นก่อนไปทำการแข่งขันต่อน้อง ๆ ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงงานเพื่อให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น “ มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมชันโรงเพิ่มเติม มีการศึกษาดูคุณสมบัติของน้ำผึ้ง และเปลี่ยนหัวข้อโครงการจากการทำเรื่องขยายรังมาเป็นการดูคุณสมบัติของน้ำผึ้งและการวัดการบินเข้าออกในรังแทน”
2.รางวัล Grand Awards: Fourth Place Award ใน Category: Mathematics
- รางวัลที่ 4 สาขาคณิตศาสตร์
- โครงงานเรื่อง “การศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่างๆ (The Polar Equations of Water Distribution from Butterfly Sprinkler Heads)”
- ผู้พัฒนา นายอดิศร ขันทอง นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา และ นางสาวกุลณัฐ บูรณารมย์
- อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค
- โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
- (ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)
3.รางวัล Grand Awards: Fourth Place Award ใน Category: Plant Sciences
- รางวัลที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์พืช
- โครงงานเรื่อง “หลักการการแตกของฝักส้มกบ (Dehiscence of Creeping Woodsorrel’s Capsule)”
- ผู้พัฒนา นายณัฐบูรณ์ ศิริแสงตระกูล
- อาจารย์ที่ปรึกษา นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์
- โรงเรียน สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง)
- และ รศ.ดร.วิวัธน์ ยังดี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- (ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)
นอกจาก 3 รางวัลใหญ่ข้างต้นแล้ว เยาวชนไทยยังได้รับรางวัลSpecial Awards ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษจากหน่วยงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในระดับโลกมอบให้ ได้แก่
1.รางวัลจาก United States Agency for International Development หรือ USAID 2018 Science for Development First Place Award ในสาขาHumanitarian Assistance and Disaster Mitigation พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ
- รางวัลที่ 1 สาขาการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย :
- โครงงานเรื่อง “นวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ (Innovative Conservation of Wetland Resources with Rhizophora mucronata Nursery)”
- ผู้พัฒนา นายกษิดิ์เดช สุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ และ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว
- อาจารย์ที่ปรึกษา นางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ
- โรงเรียน สุราษฎร์พิทยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
2.รางวัลจาก United States Agency for International Development หรือ USAID 2018 Science for Development Second Place Award ในสาขาHumanitarian Assistance and Disaster Mitigation พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ
- รางวัลที่ 2 สาขาการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย
- โครงงานเรื่อง “ระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สาย เพื่อการแจ้งเตือนไฟป่า และการลักลอบตัดไม้ (Wireless Sensor Network for Illegal Logging and Wildfire Detection)”
- ผู้พัฒนา นายญาณภัทร นิคมรักษ์
- อาจารย์ที่ปรึกษา นายธีระวุฒิ จันทะพันธ์
- โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
- (ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)
3.รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society รางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 2,000 เหรียญสหรัฐ ในฐานะโครงงานประเภททีมยอดเยี่ยม (Best Example of Team Science)
- โครงงานเรื่อง “การศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่างๆ (The Polar Equations of Water Distribution from Butterfly Sprinkler Heads)”
- ผู้พัฒนา นายอดิศร ขันทอง นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา และ นางสาวกุลณัฐ บูรณารมย์
- อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค
- โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
- (ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)
วันที่เผยแพร่ 19 พฤษภาคม 2561 18:37