NECTEC SMC โชว์รถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบ Pushrim Activated ในงาน MOU กฟผ. x กฎบัตรไทย x เครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย

Facebook
Twitter
วันที่ 2 มิ.ย. 66 เนคเทค สวทช. โดยศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) นำทีมโดย ดร.นันทวัฒน์ ฐิติชัยวรกรณ์ และ คุณประพนธ์ จิตรกรียาน ทีมวิจัยมอเตอร์และการแปลงผันกำลังงาน (MAP) นำผลงาน รถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบ Pushrim Activated (Pushrim-Activated Power-Assisted Wheelchair) ร่วมแสดงผลงาน ในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กฟผ. กับ กฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยร่วมเปลี่ยนไทยเป็นประเทศรายได้สูง ด้วยการลงทุนในเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

รถวีลแชร์ไฟฟ้า แบบ Pushrim Activated ซึ่งมีชื่อเรียกทางวิชาการว่า Pushrim-Activated Power-Assisted Wheelchair (PAPAW) เป็นรถวีลแชร์ไฟฟ้าซึ่งใช้การควบคุมโดยการเอามือเข็นที่วงแหวนบังคับล้อทั้งสองข้างทางด้านซ้ายและด้านขวา (เรียกว่า Pushrim หรือ Handrim) ในลักษณะเดียวกับการใช้งานรถวีลแชร์ปกติทั่วไป แต่จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยออกแรงเสริมด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกเบาแรงลงไปได้มาก รถวีลแชร์ไฟฟ้าชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่ยังมีกำลังแขนทั้งสองข้างดีอยู่ (ไม่มีภาวะกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง) เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ไปตามที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รถวีลแชร์ไฟฟ้าชนิดนี้มีขนาดที่กระทัดรัดใกล้เคียงกับรถวีลแชร์ธรรมดาทั่วไป จึงมีความเหมาะสมที่จะใช้งานได้ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร

ในงานนี้ สวทช. และบริษัทพันธมิตร นำผลงานร่วมแสดงนิทรรศการ ได้แก่

  • ชุดตรวจทางการแพทย์ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยศูนย์ NANOTEC
  • เทคโนโลยีชุดบอดี้สูท เรเชล-นวัตกรรมสำหรับสังคมอายุยืนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ โดยศูนย์ MTEC
  • DC-Charger สำหรับ EV เป็นผลงานความร่วมมือ ของบริษัท อีซียูเทค จำกัด และ สวทช. โดยศูนย์ ENTEC และ NECTEC
  • อุปกรณ์ออกกำลังกายใต้น้ำ บจก. อควาเทรดโซลูชัน
  • เตียงพลิกผู้ป่วย+อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ บจก. เบดเดอรี่
  • เครื่องยก-ย้ายผู้ป่วย บจก. ซีเมด เทคโนโลยี
  • อุปกรณ์ฝึกเดิน+อุปกรณ์ช่วยลุกยืน-เคลื่อนย้ายผู้ป่วย บจก. เมดิคิวบ์
  • รถไฟฟ้า/เรือไฟฟ้า บจก. สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น

พิธีลงนามความร่วมมือ กฟผ. ร่วมกับกฎบัตรไทย และเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับธุรกิจภายในเป้าหมายรอบเขื่อน กฟผ. 9 แห่งทั่วประเทศสู่ธุรกิจด้านสุขภาพแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพัฒนาพลังงานสะอาดสนับสนุนนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดย กฟผ. จะจัดทำแผนแม่บทบูรณาการเชื่อมโยงร่วมกับกฎบัตรไทยและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคของประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ประจำภาคสำหรับพัฒนาชุมชนในแต่ละจังหวัด โดยมีเขื่อนของ กฟผ. เป็นศูนย์กลางดำเนินงานและเชื่อมโยงสู่ชุมชนซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งทั่วประเทศ ดังนี้

– ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
– ภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้ากระบี่ จ.กระบี่ และเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
– ภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี