เนคเทคชูแนวคิด “งานวิจัยใช้ได้จริง สปริงบอร์ดนวัตกรรม” เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ประจำปี 2560
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ วันที่ 11กันยายน 2560 : เนคเทค พร้อมชูแนวคิดสปริงบอร์ดนวัตกรรม (Innovation Springboard) ร่วมสร้างเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ขั้นสูง เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม มุ่งผลิตงานวิจัย 5 กลุ่มหลัก การเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการผลิตและบริการ สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด มุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างเทคโนโลยีของวันพรุ่งนี้ด้วยความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยการนำเทคโนโลยีงานวิจัยและพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวถึงแนวคิดในการจัดงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2560 NECTEC Annual Conference and Exhibition 2017 ภายใต้แนวคิด“งานวิจัยใช้ได้จริง สปริงบอร์ดนวัตกรรม” (Practical R&D: Innovation Springboard) เพราะเล็งเห็นว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย เนคเทค-สวทช. ในฐานะศูนย์แห่งชาติที่มุ่งเน้นวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ดำเนินการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะสามารถช่วยพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งในอนาคตจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ในปีนี้ เนคเทคได้นำเสนอผลงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาที่จะเป็นตัวเร่งสำคัญหรือเปรียบเสมือน สปริงบอร์ด (Springboard) ให้กับทุกภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 ได้อย่างก้าวกระโดด ภายใต้กรอบวิจัย 5 ด้านของเนคเทคในปัจจุบัน คือ 1) ด้านการเกษตรและอาหาร 2) ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ 3) ด้านสุขภาพและการแพทย์ 4) ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และ 5) ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยของเนคเทค มานำเสนอในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ และนำนวัตกรรมที่ เนคเทคร่วมกับพันธมิตรพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปใช้เป็นพื้นฐานหรือพัฒนาต่อยอด จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการเติบโตของการดำเนินธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ให้เกิดผลในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลก
โดยหัวข้อสัมมนาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การบอกเล่าเรื่องราวของแนวคิดการยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ ARIPOLIS ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนานิคมนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ (Automation) หุ่นยนต์ (Robotics) และระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) ของประเทศ และ ส่วนที่ 2 การบอกเล่าถึงผลงานและแนวโน้มงานวิจัยในกลุ่มงานวิจัยของเนคเทค ช่วยให้ผู้รับฟังสัมมนาได้เรียนรู้และรู้เท่าทันแนวโน้มของการพัฒนาที่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาท และช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันพร้อมกับคุณภาพชีวิตของเราในอนาคตอันใกล้
การจัดนิทรรศการประจำปี 2560 นำเสนอผลงานสอดคล้องกับการจัดสัมมนาวิชาการ โดยเน้นกลุ่มผลงานวิจัย 5 ด้านของเนคเทค เช่นเดียวกัน โดยมีผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่
- ด้านการเกษตรและอาหาร อาทิ NECTEC FAARM SERIES, สถานีวัดอากาศ, อุปกรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ระบบควบคุมการเลี้ยงสัตว์น้ำ, Smart Aqua Application, กล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve), และโมไบล์แอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก
- ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ อาทิ Smart Factory, Heat & Freeze, Sensor, Remote Terminal Unit: RTU, NETPIE และ KitWai
- ด้านสุขภาพและการแพทย์ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม 1) Ulife ข้อมูลสุขภาพตลอดช่วงชีวิต กลุ่ม 2) อุปกรณ์ อาทิ KidSize, DentiiScan 2.0 และ กลุ่ม 3) ผู้สูงอายุ คนพิการ และอุปกรณ์เครื่องช่วยอำนวยความสะดวก อาทิ เครื่องช่วยฟัง KLEAR หรือ Hearing aid Klear, ระบบ Speech Hearing Screening ในเด็ก และ ระบบออกกำลังสมองในผู้สูงอายุ (Brain Training)
- ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาทิ ทันพิบัติ โซล่าร์ปั้มอินเวอร์เตอร์ (SUN FLOW) และระบบเตือนภัยดินถล่ม
- ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ MOOC ระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และ e-Culture คลังสารสนเทศภูมิปัญญาไทย
ผลงานต่างๆ ที่นำเสนอเป็นผลงานวิจัยที่ใช้งานได้จริง และสามารถตอบโจทย์ทั้งในมิติของผู้ประกอบการที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนผู้บริโภคปลายทางต่อไป
วันที่เผยแพร่ 12 กันยายน 2560 08:00