เนคเทค-สวทช.เปิดบ้านต้อนรับผู้ร่วมอบรม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล รุ่นที่ 17” จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ITPC) โครงการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2563 ณ เนคเทค-สวทช. จ.ปทุมธานี การอบรมฯ ในช่วงแรก น้อง ๆ ได้รู้จักกับเบื้องหลังการสร้าง Avatar นักข่าวปัญญาประดิษฐ์คนแรกของไทย “Sutthichai AI” พร้อมการบรรยายในหัวข้อ “AI กับงานด้านสื่อมวลชน” โดย ดร.อัษฎางค์ แตงไทย นักวิจัยทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU) เนคเทค-สวทช. โดยน้อง ๆ จะได้นำเนื้อหาเหล่านี้ไปทดลองเขียนข่าวเพื่อชิงรางวัลในกิจกรรมของการอบรมฯ ซึ่งได้ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
- ผลงานรางวัล Popular Vote | นางสาวศวรรยา ลือชัย (ซอ)
- คณะวิทยาการจัดการ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- ผู้ได้รับรางวัล Popular Vote กิจกรรมการนำเสนอข่าวปัญญาประดิษฐ์
- โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล รุ่นที่ 17”
ผลงาน | NECTEC พัฒนา AI สุดล้ำ ลงสนามสื่อไทย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนา Sutthichai AI และ Kitti AI 2 หุ่น AI แรกในไทยลงสนามวงการสื่อ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “การนำ AI ประยุกต์ใช้กับงานด้านสื่อมวลชน” โดย ดร.อัษฎางค์ แตงไทย นักวิจัยกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ ระบุว่า ปัจจุบัน AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้น หลายสาขาอาชีพอาจถูกแทนที่ด้วย AI (AI Disruption) ทั้งสาขาอาชีพทางด้านการแพทย์ การศึกษา หรือในด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงแอปพลิเคชันอย่าง Netflix, Google, Amazon ที่ 35% เลือกซื้อของจากสินค้าแนะนำของแอปพลิเคชัน หรือจะเป็นคำบรรยายในวิดีโอต่าง ๆ (Closed Caption, CC) ที่ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้แทนการพิมพ์ป้อนคำ ในส่วนของ เนคเทค-สวทช.เองได้มีการพัฒนา AI Speech to text ด้วยเช่นกัน โดยมีชื่อว่า “พาที”
นอกจากนั้น ดร.อัษฎางค์ ยังกล่าวถึง Vitual production ที่ AI ถูกนำมาใช้ในงานภาพยนตร์หรือสำนักข่าว ซินหัวของจีน และ BBC ที่ใช้ AI ในการประกาศข่าว (Virtual Announcer) รวมถึงผู้ประกาศข่าว AI (Virtual Announcer) ชื่อดังอย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น และ คุณกิตติ สิงหาปัด ที่เนคเทค-สวทช.กำลังพัฒนา ดร.อัษฎางค์ เผยว่า ผู้ประกาศข่าว AI ทั้ง 2 ท่าน มีระบบการทำงาน 3 ส่วน คือ Text to Speech, Virtual Human และ Facial & Gesture Animation ทางเนคเทค-สวทช.ทำการเก็บเสียงของ Sutthichai AI นานกว่า 15 ชั่วโมง และเก็บเสียงของ Kitti AI นานกว่า 20 ชั่วโมง
ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะมีโอกาสได้เห็น Sutthichai AI และ Kitti AI ทำหน้าที่ดำเนินรายการผ่านทางสถานีโทรทัศน์มากขึ้น หากผู้ประกาศข่าว AI ทั้งสองนี้ได้รับการพัฒนาจนสามารถรายงานข่าวได้อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการข่าวไทย