เนคเทค-สวทช.เปิดบ้านต้อนรับผู้ร่วมอบรม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล รุ่นที่ 17” จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ITPC) โครงการฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2563 ณ เนคเทค-สวทช. จ.ปทุมธานี การอบรมฯ ในช่วงแรก น้อง ๆ ได้รู้จักกับเบื้องหลังการสร้าง Avatar นักข่าวปัญญาประดิษฐ์คนแรกของไทย “Sutthichai AI” พร้อมการบรรยายในหัวข้อ “AI กับงานด้านสื่อมวลชน” โดย ดร.อัษฎางค์ แตงไทย นักวิจัยทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ (STU) เนคเทค-สวทช. โดยน้อง ๆ จะได้นำเนื้อหาเหล่านี้ไปทดลองเขียนข่าวเพื่อชิงรางวัลในกิจกรรมของการอบรมฯ ซึ่งได้ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
- ผลงานรางวัลชนะเลิศ | นายกิตติธัช วนิชผล (กันต์)
- คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศกิจกรรมการนำเสนอข่าวปัญญาประดิษฐ์ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล รุ่นที่ 17”
ผลงาน | เนคเทค-สวทช. เสนอผู้ประกาศข่าว AI แห่งอนาคต ในโครงการ “พิราบดิจิทัล” รุ่นที่ 17
กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์เนคเทค-สวทช. เผยผู้ประกาศข่าว AI จำลอง ‘สุทธิชัย’ และ ‘กิตติ’ เพื่อการประยุกต์ใช้กับสื่อมวลชนในโครงการ “พิราบดิจิทัล” รุ่นที่ 17
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ‘AI For Thai’ นำเสนอผลงานวิจัยในช่วงกิจกรรม พิราบรอบรู้ ภายในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล” รุ่นที่ 17 “ระบบสังเคราะห์การขยับปาก (Visual Speech Synthesis)” ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับผู้ประกาศข่าว AI สองคนแรกของไทย “Suthichai-AI” และ “Kitti-AI”
ดร.อัษฎางค์ แตงไทย นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ทีมวิจัยการเข้าใจเสียงและข้อความ ‘AI For Thai’ กล่าวว่า เทคโนโลยีผู้ประกาศข่าวจำลอง (Virtual Reporter) นั้นเป็นการใช้ระบบสังเคราะห์การขยับปาก เพื่อสร้างผู้ประกาศข่าวที่สามารถนำมาทดแทนผู้ประกาศข่าวตัวจริง หลังจากที่ผู้ประกาศข่าวตัวจริงเสียชีวิตได้ ด้วยการสร้างตัวละครจำลอง (Avatar) ของสุทธิชัย หยุ่น ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Nation และกิตติ สิงหาปัต ผู้ประกาศข่าวจากรายการข่าวสามมิติ ในรูปแบบ 2 มิติ หรือ 3 มิติ แล้วใช้ระบบสังเคราะห์นี้ ทำให้ตัวละครสามารถขยับปากได้สอดคล้องกับข้อความที่ต้องการได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดย Suthichai-AI ได้ถูกนำมาใช้เป็นพิธีกรการสัมมนาออนไลน์เมื่อเช้าของวันนี้อีกด้วย
ดร.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า หลักการทำงานของผู้ประกาศข่าวจำลองนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วน: (1) การแปลงข้อความเป็นเสียงพูด (text-to-speech) ซึ่งทำงานได้ด้วยการสร้างเสียงพูดที่เป็นธรรมชาติ จากคลังเสียงพูด รวมไปถึงลักษณะการขยับปากของผู้ประกาศข่าวคนนั้น ๆ ที่มีความยาวมากกว่า 15 ชั่วโมง ให้สามารถประกอบเป็นประโยคคำพูดจากที่ใส่ข้อความเข้าไปได้ (2) บุคคลเสมือนจริง (Virtual Human) เป็นการจำลองผู้ประกาศข่าวให้เป็นโมเดลรูปแบบ 3 มิติ เพื่อใช้เป็นตัวแทนผู้ประกาศข่าวเพื่อรายงานข่าวแทนตัวจริงได้ และ(3) แอนิเมชันจำลองหน้าตาและท่าทาง (Facial and Gesture Animation) เป็นการใช้โปรแกรมจำลองให้โมเดลนั้นสามารถแสดงท่าทางการขยับปาก หรือการแสดงอารมณ์ ท่าทางเบื้องต้นเตรียมเอาไว้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้จริงได้