สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟนในระบบ iOS Version 8 ขึ้นไป และ Android และจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ ใช้งานผ่านเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการค้นคำภาษาไทยได้สะดวก
นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงความสำคัญของการจัดทำ “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” ว่า สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาข้อมูลทางวิชาการสำหรับเผยแพร่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เดิมสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำแอปพลิเคชัน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔” และแอปพลิเคชัน “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ที่ใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ตโฟนให้ประชาชนได้ใช้งานแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งประชาชนให้ความสนใจและดาวน์โหลดไปใช้งานเป็นจำนวนมาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงได้ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องโดยจัดทำแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” เพื่อรวบรวมชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงในต่างประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและชื่อที่เขียนเป็นภาษาไทย กว่า ๑,๕๐๐ แห่ง และชื่อเขตการปกครองในประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาไทยและชื่อที่เขียนโดยการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน กว่า ๘,๔๐๐ แห่ง ให้ประชาชนได้ใช้งานในระบบ iOS Version 8 ขึ้นไป และ Android แอปพลิเคชันนี้มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องด้วยปัจจุบันมีภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจำนวนมากได้ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองต่าง ๆ มายังสำนักงานราชบัณฑิตยสภา นอกจากนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภายังได้จัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ ที่สามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตย-สภา เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกในการค้นหาคำภาษาไทยพร้อมความหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังมีช่องทางให้ผู้ใช้งานได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเสนอคำศัพท์เพื่อพิจารณาเก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา อีกด้วย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาหวังว่า “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลวิชาการของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้สะดวกยิ่งขึ้น ประชาชนและเยาวชนไทยสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงความรู้ทางด้านภาษาไทย อันนำไปสู่การใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องต่อไป
ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เนคเทคได้มุ่งพัฒนางานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากว่า ๒๐ ปี และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในการพัฒนา “ราชบัณฑิตยฯ แอปพลิเคชัน” ที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการประยุกต์งานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านภาษาธรรมชาติและความหมายให้เกิดประโยชน์ต่อการบริการความรู้สู่ประชาชนที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ความร่วมมือในลักษณะนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการด้านภาษาที่สามารถพัฒนาภาษาได้ในลักษณะก้าวกระโดด เนคเทคมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และจะมุ่งพัฒนางานวิจัยทางด้านภาษารวมถึงการอนุรักษ์ข้อมูลทางวัฒนธรรมภาษาให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสมบูรณ์
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย เนคเทค กล่าวถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ ว่า แอปพลิเคชัน “ชื่อบ้านนามเมือง” เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยค้นหาชื่อประเทศ เมืองหลวง ดินแดน และเขตการปกครองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ใช้สามารถค้นข้อมูลจากคำไทยและคำต่างประเทศได้ทั้งตัวอักษรตั้งต้นหรือส่วนหนึ่งของคำ การค้นหาแสดงผล ๒ แบบ คือ ชื่อประเทศ เมืองหลวง ดินแดน และเขตการปกครองในต่างประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและชื่อที่เขียนเป็นภาษาไทย ส่วนชื่อเขตการปกครองในประเทศ แสดงชื่อเป็นภาษาไทยและชื่อที่เขียนโดยการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน และบันทึกประวัติการค้นหาของผู้ใช้ด้วย แอปพลิเคชันนี้ทำให้ผู้ใช้เขียนชื่อประเทศ เมืองหลวง ดินแดน และเขตการปกครอง ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ใน Google Play และ App Store โดยค้นคำว่า ราชบัณฑิตยสภา, Royal Society หรือ ชื่อบ้านนามเมือง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ออนไลน์ ผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://www.royin.go.th และค้นหาคำศัพท์ที่ต้องการได้ทั้งตัวอักษรตั้งต้นหรือตามหมวดตัวอักษร ผลของการค้นคำจะปรากฏข้อมูลของชนิดของคำ ความหมาย ที่มาของคำ คำเชื่อมโยง ฯลฯ ส่วนการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเสนอคำศัพท์ใหม่ ผู้ใช้ต้องสมัครเป็นสมาชิกของระบบก่อนจึงจะเข้าแสดงความคิดเห็นได้