ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้การต้อนรับ พันเอกสุรพัฒน์ เวศกาวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก พร้อมคณะ จำนวน 37 ท่าน เยี่ยมชมศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรให้เกิดความรู้ สามารถนำองค์ความรู้ต่อยอดสู่งานวิจัยและแสวงหาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านความมั่นคง ตลอดจนการออกแบบผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ Online โดยมี ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) พร้อมด้วย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ รองผู้อำนวนการศูนย์ NSD และนักวิจัยเนคเทค ร่วมให้การต้อนรับ
บรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) โดย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ NSD
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) เป็นศูนย์เฉพาะทางที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีด้านความมั่นคงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบสองทาง หรือ Dual-Use โดยความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการขับเคลื่อนการขยายผลของการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์สู่การใช้งานจริง และเพื่อสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเป้าหมายสำคัญคือก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและรองรับ S-curve ที่ 11 โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลใช้งานด้านความมั่นคงและที่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และด้านหุ่นยนต์ และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาผ้าเคลือบ กราฟีนอัจฉริยะสำหรับชุดเครื่องแบบทหาร โครงการวิจัยและพัฒนาระบบบำบัดฝุ่นละออกขนาดเล็กในอากาศด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตแบบมีโอโซนต่ำ โครงการขยายผลการใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยแสงยูวี เป็นต้น
แนะนำเทคโนโลยีสองทาง (Dual Use Technology)
โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ NSD
เทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงและภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์ โดย สวทช. จัดตั้งศูนย์ NSD เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือจากภัยความไม่สงบและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงมีหน้าที่สร้างเครือข่ายและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสองทาง เพื่อใช้เป็นยุทธภัณฑ์และยุทโธปกรณ์การทหาร ตำรวจ และสามารถประยุกต์ใช้กับทางพลเรือน เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยกับสังคม พร้อมตอบกลยุทธ์สร้างเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการ และกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที
การผลิตยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันประเทศใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านอธิปไตยและดินแดน เช่น รถถังโดรน 2. ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น จมูกอิเล็กทรอนิกส์ 3. ด้านความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ข้อมูลบิ๊กดาต้าการเงิน และ ประวัติคนเข้าออกประเทศใบหน้า
ความปลอดภัยด้านคอมพิวเตอร์
โดย ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
การปกป้องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายจากมัลแวร์แฮกเกอร์และภัยคุกคามอื่น ๆ เพราะในคอมพิวเตอร์ประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลองค์กร กระทั่งข้อมูลทางการเงิน สิ่งที่พบเห็นกันบ่อย ๆ คือ อาชญากรรมทางด้านคอมพิวเตอร์หลายประเภทด้วยกัน เช่น การดักจับสัญญาณผู้อื่นโดยการใช้เครื่องมือพิเศษเชื่อมต่อแล้วแอบบันทึกสัญญาณ การแฮกเกอร์ข้อมูล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์เข้าไปเจาะระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่าย หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบของความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศมีดังนี้ 1. การรักษาความลับป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกเข้าถึงโดยบุคคลที่ไม่ได้มีสิทธิหรือไม่ได้รับอนุญาต โดยระบบควบคุมการเข้าถึงทั่วไป (Access Control) เช่น Login และ Password, การใช้ลายนิ้วมือ 2. การรักษาความพร้อมในการใช้งาน (Availability) คือ การทำให้ข้อมูลสามารถเข้าถึงหรือเรียกใช้ได้ตลอดเวลา เมื่อต้องการใช้งานหรือเมื่อมีสิทธิใช้งานตัวอย่าง เช่น การทำให้เซิร์ฟเวอร์สามารถทำงานได้อย่างปกติตลอดเวลา 3. การคงสภาพความครบถ้วนของข้อมูล (Integrity) คือ การป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ประสงค์ดี หรือโดยโปรแกรมประเภทมัลแวร์ เช่น ไวรัส เป็นต้น องค์ประกอบข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่สำคัญและห้ามถูกเปลี่ยนแปลง เช่น ข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ข้อมูลในบัญชีธนาคาร เป็นต้น