- บทความ | ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร
- นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)
ถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์กลับไปดูสักเล็กน้อยจะพบว่าการปลดปล่อยแสงออกมาจากสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ภายใต้แรงดันไฟฟ้านั้นเริ่มศึกษาโดย Henry J. Round ในปี ค.ศ. 1907 แล้ว และในช่วงยี่สิบถึงสามสิบปีต่อมาก็เริ่มมีการศึกษาเชิงลึกในเรื่องของการเรืองแสงที่กระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electroluminescence) จนกระทั่งเป็นที่เข้าใจมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1955-1958 ว่าแสงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการรวมตัวกันของอิเล็กตรอนและโฮลในรอยต่อของสารกึ่งตัวนำชนิด p และ n (ไดโอด) โดย J. R. Haynes
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ Rubin Braunstein ได้รายงานถึงความสำเร็จในการสร้างแสงอินฟราเรดจากไดโอดเปล่งแสงจากสารแกลเลียมอาร์เซไนด์ (GaAs) และยังได้สาธิตการสื่อสารด้วยแสงเบื้องต้นไปด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการสาธิตแสงสีต่างๆ ที่ปลดปล่อยออกมาจากไดโอดก็เริ่มขึ้น
แต่สิ่งที่ท้าทายมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ การทำให้ไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าการสร้างแหล่งกำเนิดแสงสีขาวขึ้นมามี 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นการผสมแม่สีของแสง คือ แดง เขียว และ น้ำเงิน เข้าด้วยกัน และอีกแนวทางหนึ่ง คือ ผสมแสงสีน้ำเงินเข้ากับแสงสีเหลือง ซึ่งจะเห็นว่าแสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่ต้องใช้ในแนวทางทั้งสองนั้นเอง อนึ่งแสงสีเหลืองในแนวทางที่สองเกิดขึ้นจากการเรืองแสงของสารฟอสเฟอร์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การกระตุ้นด้วยแสงสีน้ำเงิน
สารกึ่งตัวนำที่รู้กันในวงการวิทยาศาสตร์ว่าสามารถปลดปล่อยแสงสีน้ำเงินได้ คือ แกลเลียมไนไตรด์ (GaN) แต่การให้ได้มาซึ่งผลึกของแกลเลียมไนไตรด์ที่มีคุณภาพดีและชั้น p ในไดโอดนั้นทำได้ยากด้วยวิธีการที่เรียกว่า Hybrid Vapor Phase Epitaxy ในสมัยนั้น
จนกระทั่งมีการคิดและพัฒนาวิธีการใหม่ที่เรียกว่า Metalorganic Vapor Phase Epitaxy (MOVPE) ขึ้นในช่วง ค.ศ. 1970-1979 ที่ทำให้ในปี ค.ศ. 1986 Isamu Akasaki และนักศึกษาของเขาคือ Hiroshi Amano เลือกใช้วิธีการดังกล่าวในการสร้างชั้นอลูมิเนียมไนไตรด์ (AlN) บนฐานแซปไฟร์ (Sapphire) ก่อนแล้วค่อยๆ สร้างชั้นแกลเลียมไนไตรด์บนชั้นอลูมิเนียมไนไตรด์อีกทีหนึ่ง
ผลที่ได้คือ ทำให้ได้ผลึกของชั้นแกลเลียมไนไตรด์ที่มีคุณภาพในเวลาต่อมา อีกสี่ปีให้หลัง อาจารย์และศิษย์คู่นี้ประสบความสำเร็จในการสร้างชั้นไดโอดชนิด p ขึ้นด้วยการเพิ่มสังกะสี (Zn) หรือ แมกนีเซียม (Mg) เข้าไป และประสิทธิภาพของชั้นนี้จะดีขึ้นเมื่อถูกยิงด้วยลำอิเล็กตรอน เพื่อให้ได้แหล่งกำเนิดแสงไดโอดที่เปล่งแสงสีน้ำเงินได้นั้น ทั้งสองคนได้เลือกใช้โครงสร้าง Heterostructure ที่ Herbert Kroemer และ Zhores Alferov ได้คิดค้นไว้ (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 2000) โดยมีชั้นเปล่งแสงคืออินเดียมแกลเลียมไนไตรด์ (InGaN) ที่ถูกประกบอยู่ระหว่างชั้นอลูมิเนียมแกลเลียมไนไตรด์กับแกลเลียมไนไตรด์
ในช่วงจังหวะเวลาที่ใกล้เคียงกัน Shuji Nakamura ก็สามารถสร้างชั้นผลึกของแกลเลียมไนไตรด์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเขาเลือกใช้วิธีการสร้างชั้นแกลเลียมไนไตรด์ภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่ต่ำกว่าก่อนแล้วค่อยๆ สร้างชั้นแกลเลียมไนไตรด์ภายใต้อุณหภูมิที่สูงขึ้น
เขายังสามารถอธิบายได้อีกว่าการที่ลำอิเล็กตรอนช่วยให้ประสิทธิภาพของชั้น p ในไดโอดดีขึ้นนั้นก็เพราะลำอิเล็กตรอนช่วยกำจัดไฮโดรเจนที่เป็นตัวยับยั้งไม่ให้ชั้น p เกิดขึ้นได้ง่ายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม Shuji Nakamura ไม่ได้เลือกใช้วิธีการยิงลำอิเล็กตรอนอย่างที่ Isamu Akasaki และ Hiroshi Amano ได้เลือกใช้ แต่เขากลับเลือกใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อนและใช้พลังงานต่ำกว่า คือ การให้ความร้อนกับวัสดุ และประสบความสำเร็จในการสร้างชั้น p ที่มีประสิทธิภาพขึ้นในปี ค.ศ. 1992
เพื่อให้ได้แหล่งกำเนิดแสงไดโอดที่เปล่งแสงสีน้ำเงินได้นั้น Shuji Nakamura ได้ให้ชั้นอินเดียมแกลเลียมไนไตรด์ทำหน้าที่ปลดปล่อยแสงออกมา โดยชั้นผลึกนี้อยู่ระหว่างชั้นอลูมิเนียมแกลเลียมไนไตรด์ชนิด n กับชนิด p ซึ่งทั้งสองชั้นนี้อยู่ระหว่างชั้นแกลเลียมไนไตรด์ชนิด n กับชนิด p อีกทีหนึ่ง
ความสำเร็จในการสร้างแสงไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินนี้ได้นำไปสู่แหล่งกำเนิดแสงสีขาวที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นที่เชื่อกันว่าแหล่งกำเนิดแสงไดโอดนี้จะส่องสว่างศตวรรษที่ 21 แทนที่แหล่งกำเนิดแสงแบบหลอดไส้ที่ได้ส่องสว่างในศตวรรษที่ 20 มาแล้ว
- ประวัติย่อ : Isamu Akasaki
Isamu Akasaki เกิดที่เมือง Kagoshima ประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Kyoto University ในปี ค.ศ. 1952 หลังจบการศึกษาได้เข้าทำงานกับบริษัท Kobe Kogyo (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของบริษัท Fujitsu) ในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1959 ได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นที่ Nagoya University และได้รับปริญญาเอกสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ในปี ค.ศ. 1964 เมื่อจบการศึกษาก็ได้เข้าทำงานในตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยพื้นฐานของบริษัท Matsushita Research Institute Tokyo (ปัจจุบันคือบริษัท Panasonic) จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการทั่วไปแผนกสารกึ่งตัวนำ ซึ่งที่บริษัทนี้เขาก็เริ่มสนใจการสร้างแหล่งกำเนิดแสงไดโอดสีน้ำเงินแล้ว โดยเริ่มต้นจากการหาวิธีการปรับปรุงคุณภาพของผลึกแกลเลียมไนไตรด์ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1981 ได้มาเป็นอาจารย์สอนที่ Nagoya University จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1992 ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณของ Nagoya University และศาสตราจารย์ของ Meijo University
- ประวัติย่อ : Hiroshi Amano
Hiroshi Amano เกิดที่เมือง Hamamatsu ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1960 เขาจบปริญญาตรี โท และ เอก ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าในปี ค.ศ. 1983, 1985 และ 1989 ตามลำดับ จาก Nagoya University เขาเริ่มสนใจงานวิจัยด้านสารกึ่งตัวนำตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และ ได้เข้าร่วมงานกับห้องปฏิบัติการวิจัยของอาจารย์ที่ชื่อ Isamu Akasaki ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกก็ยังอยู่ช่วยทีมวิจัยของอาจารย์ Isamu Akasaki อยู่อีกสามปี และได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Meijo University อีกหกปีต่อมาได้เป็นรองศาสตราจารย์และได้เป็นศาสตราจารย์ในปี ค.ศ. 2002
- ประวัติย่อ : Shuji Nakamura
Shuji Nakamura เกิดที่เมือง Ikata ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1954 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโททางวิศวกรรมไฟฟ้าในปี ค.ศ. 1977 และ 1979 ตามลำดับจาก University of Tokushima หลังจากนั้นได้เข้าทำงานที่บริษัท Nichia ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้ประดิษฐ์แหล่งกำเนิดแสงไดโอดสีน้ำเงินขึ้น และ ได้รับการสนับสนุนให้ทำวิจัยทางด้านนี้เป็นอย่างดีในช่วงเริ่มต้นจากผู้ก่อตั้งบริษัท อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ใช้งบประมาณสูงและใช้เวลานาน ทำให้บริษัทหยุดการสนับสนุน แต่เขาก็ยังไม่ท้อถอยโดยได้พยายามพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงชนิดนี้อยู่จนสำเร็จในเวลาต่อมา เขาได้รับปริญญาเอกทางวิศวกรรมไฟฟ้าจาก University of Tokushima ในปี ค.ศ. 1994 และได้ลาออกจากบริษัท Nichia ในปี ค.ศ. 1999 เพื่อไปเป็นศาสตราจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ University of California Santa Barbara นอกเหนือจากแหล่งกำเนิดแสงไดโอดสีน้ำเงินแล้ว เขายังได้สร้างแหล่งกำเนิดแสงไดโอดสีเขียวขึ้นมา และยังมีส่วนในการพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงไดโอดสีขาว และ เลเซอร์ไดโอดสีน้ำเงินด้วย
แหล่งข้อมูล
- G. Brumfiel, “Physics Nobel for quantum optics,” Nature, Vol. 190, p. 152, October 2012.
- https://nobelprize.org , accessed Feb 2019.
- https://en.wikipedia.org , accessed Feb 2019.
- ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร, โฟโทนิกส์ มหัศจรรย์แห่งแสง, นานมีบุ๊คพับลิเคชัน, กรุงเทพฯ, กุมภาพันธ์ 2549.
บทความที่เกี่ยวข้อง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 26 | ค.ศ.2000 สำหรับการพัฒนาโครงสร้างสารกึ่งตัวนำแบบหลายชั้นสำหรับใช้ในการสื่อสารความเร็วสูง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 27 | ค.ศ.2001 สำหรับความสำเร็จในการควบแน่นอะตอมของก๊าซให้อยู่ในสถานะ Bose-Einstein
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 28 | ค.ศ.2005 สำหรับผลงานที่เกี่ยวกับการนำทฤษฎีควอนตัมมาอธิบายถึงความเป็นโคฮีเรจน์ของแสงและจากการพัฒนาเทคนิค Optical Frequency Comb สำหรับการวัดที่ให้ความละเอียดสูง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 29 | ค.ศ.2009 สำหรับความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับการส่งแสงผ่านเส้นใยนำแสงเพื่อใช้ในการสื่อสาร และ จากการประดิษฐ์วงจรสารกึ่งตัวนำสำหรับรับภาพ
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 30 | ค.ศ.2013 สำหรับวิธีการทดลองใหม่ที่สามารถตรวจวัดและจัดการกับระบบควอนตัมใดๆ