- บทความ | ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร
- นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)
สำหรับอนุภาคอย่างอะตอมโดยเฉพาะอิเล็กตรอนที่โคจรอยู่รอบๆ นิวเคลียสของอะตอม และ โฟทอน มีพฤติกรรมที่เป็นไปตามทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ เช่น อิเล็กตรอนสามารถอยู่ได้ในสองที่ในเวลาเดียวกันจนกระทั่งเราเริ่มวัดมัน ซึ่งเป็นไปตามกฎความไม่แน่นอนของ Werner Heisenberg
ความไม่แน่นอนในลักษณะดังกล่าวก็จะคล้ายๆ กับประโยคทองของ Erwin Schrodinger ที่ว่าแมวในกล่องสามารถมีชีวิตอยู่และตายได้จนกว่าเราจะดูมันในกล่องถึงจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งในการศึกษาพฤติกรรมระดับควอนตัมของอะตอมและโฟทอนส่วนใหญ่จะต้องไปรบกวนมันก่อนและเมื่อรบกวนมันแล้วมันก็จะหายไป ทำให้ไม่สามารถศึกษาพฤติกรรมระดับควอนตัมของมันได้
อุปสรรคดังกล่าวได้หายไปทันทีเมื่อนักวิทยาศาสตร์สองคนคือ David Wineland และ Serge Haroche ได้เสนอวิธีการทดลองใหม่ที่ช่วยให้สามารถศึกษาพฤติกรรมของอะตอมและโฟทอนในระดับควอนตัมอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน และทำให้เขาทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้
สำหรับ David Wineland เขาเริ่มต้นจากการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงที่สุด โดยสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการวิจัย คือ ความแม่นยำในการวัดความถี่ของการสั่นของอะตอมจากแสงที่อะตอมปลดปล่อยออกมา
อะตอมที่เขาศึกษาอยู่นั้นคืออะตอมของ Beryllium ที่มีประจุและถูกกักไว้ในสนามไฟฟ้าภายใต้สภาวะสุญญากาศและอุณหภูมิต่ำ หลังจากนั้นเขาได้ใช้หลักการที่ทำให้อะตอมเย็นลงด้วยเลเซอร์ เพื่อให้อะตอมนั้นอยู่ในระดับชั้นพลังงานที่ต่ำที่สุด ซึ่งจะช่วยลดสัญญาณรบกวนในขณะทำการวัดความถี่ของแสงที่ปลดปล่อยออกมาได้ดีและแม่นยำขึ้น
จุดสำคัญของผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลอยู่ตรงที่เขาได้ทำการปรับความถี่ของแสงเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้สามารถเปลี่ยนระดับชั้นพลังงานของอะตอมให้อยู่ที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือ อยู่ระหว่างระดับชั้นพลังงานที่อยู่ใกล้กัน (Superposition of energy states) และทำให้สามารถศึกษาพฤติกรรมทางควอนตัมของอะตอมได้
เมื่อมองในมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า David Wineland เลือกใช้แสงในการศึกษาพฤติกรรมระดับควอนตัมของอะตอม แต่ในส่วนของ Serge Haroche นั้นจะทำตรงกันข้ามกัน คือ เขาใช้อะตอมในการศึกษาพฤติกรรมระดับควอนตัมของโฟทอน
สิ่งที่ Serge Haroche ดำเนินการ คือ เขาให้โฟทอนสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างกระจกสองชิ้นที่ห่างกันประมาณ 3 เซนติเมตร กระจกทั้งสองทำขึ้นด้วยวัสดุตัวนำยิ่งยวดและอยู่ภายใต้อุณหภูมิประมาณ 0.8 เคลวิน กระจกทั้งสองมีค่าการสะท้อนสูงมาก ซึ่งทำให้โฟทอนที่อยู่ภายในสะท้อนกลับไปกลับมาเทียบได้กับระยะทางถึง 40,000 กิโลเมตรในเวลา 130 มิลลิวินาที ก่อนที่จะถูกลดทอนไปและตรวจวัดได้ยาก
ถึงแม้ว่า ช่วงเวลาเพียง 130 มิลลิวินาที ดูสั้นมาก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถใส่อะตอมของ Rubidium เข้าไปในช่องว่างของกระจกทั้งสองเพื่อที่จะควบคุมและตรวจวัดโฟทอนที่อยู่ภายในได้
สำหรับอะตอมของ Rubidium นั้นถูกเตรียมให้อยู่ในสถานะของอะตอมแบบ Rydberg มีขนาดประมาณ 1000 เท่าของอะตอม Rubidium ทั่วไปโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 125 นาโนเมตร มีรูปร่างเป็นแบบขนมโดนัท และตอบสนองต่อสนามไฟฟ้าได้ดี
เนื่องจากอะตอม Rubidium และโฟทอนมีความถี่การสั่นไม่ตรงกัน ดังนั้นโฟทอนจะไม่ดูดซับพลังงานของอะตอมไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อะตอมของ Rubidium จะมีเฟสหรือจังหวะเวลาการสั่นเปลี่ยนไปได้ ซึ่งเฟสของอะตอมที่เปลี่ยนไปสามารถตรวจวัดได้ และ ทำให้รู้ว่ามีโฟทอนอยู่ในช่องว่างระหว่างกระจกทั้งสอง แต่ถ้าเฟสของอะตอมไม่เปลี่ยนแปลง แสดงว่าไม่มีโฟทอนอยู่
วิธีการของ Serge Haroche ทำให้สามารถวัดจำนวนโฟทอนที่อยู่ในช่องว่างระหว่างกระจกได้ และ การใส่อะตอมเข้าไปในช่องว่างระหว่างกระจกทั้งสองในช่วงเวลาที่ต้องการก็สามารถศึกษาพฤติกรรมของโฟทอนที่อยู่ภายในได้นั่นเอง
- ประวัติย่อ : David Wineland
David Wineland เกิดที่เมือง Wauwatosa มลรัฐ Wiscousin สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ในช่วงวัยเด็กมีความสนใจเกี่ยวกับสิ่งของที่มีกลไกรวมทั้งเครื่องยนต์ การฝึกบวกและคูณเลขเร็วก็ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กจากการที่มีบิดาเป็นวิศวกรโยธาและชอบเล่นเกมส์คิดเลขเร็วกับลูกๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ บิดาและมารดายังสอนให้ลูกทุกคนรู้จักประหยัด และ ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วงที่เขาเริ่มเรียนฟิสิกส์ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็เริ่มชอบวิชานี้ทันที เนื่องจากเห็นความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์ง่ายๆ กับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ในปี ค.ศ. 1961 ได้เข้าเรียนที่ University of California Davis โดยเลือกเรียนเอกคณิตศาสตร์ พออยู่ชั้นปีที่ 3 ได้ย้ายไปเรียนต่อที่ University of California Berkeley เน้นฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1965 เข้าเรียนระดับบัณฑิตศึกษาที่ Harvard University และเริ่มเข้าใจตัวเองว่าควรเน้นไปด้านการทดลองมากกว่าด้านทฤษฎี จากนั้นได้เริ่มทำวิจัยภายในห้องปฏิบัติการของ Norman Ramsey ซึ่งเน้นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดความถี่ของสเปกตรัม ซึ่งหลังจากจบการศึกษาได้ทำวิจัยหลังปริญญาเอกทางด้านนี้และต่อมาก็เข้าทำงานที่ National Bureau of Standards (ปัจจุบันคือ National Institute of Standard and Technology – NIST) ในหน่วยวิจัยด้านเวลาและความถี่ ซึ่งที่นี่เองเขาได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาอะตอมของซีเซียม และ การทำให้อะตอมเย็นลงด้วยแสงเลเซอร์ ภายหลังต่อมาได้ศึกษาและทดลองทางด้านการประมวลผลข้อมูลระดับควอนตัม (Quantum information processing)
David Wineland เป็นคนที่สี่ของ NIST ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ นอกเหนือจากการทำวิจัยแล้ว David Wineland ยังทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นวอลเล่ย์บอล เล่นซอฟท์บอล และ ขี่จักรยาน ข้อแนะนำที่เขามีให้แก่เด็กรุ่นใหม่ในทุกๆ ครั้งที่มีโอกาสไปเล่าให้เด็กๆ เหล่านี้ฟัง คือ หาสิ่งที่น่าสนใจและทุ่มเททำเต็มความสามารถ
- ประวัติย่อ : Serge Haroche
Serge Haroche เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ที่เมือง Casablanca ประเทศโมร๊อกโค จากการที่มีบิดาและมารดาเรียนมาในสายสังคม คือ บิดาเป็นทนายและมารดาเป็นครูสอนวรรณกรรมฝรั่งเศสและเยอรมัน ทำให้ได้รับการส่งเสริมให้รักการอ่าน ทัศนศึกษาในพิพิธภัณฑ์ และ ถกประเด็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณและการเมือง ในปี ค.ศ. 1956 ครอบครัวได้ย้ายมาที่ปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้เรียนที่ Lycée Carnot และเป็นนักเรียนในระดับหัวแถวของชั้น เขาสนใจทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะดาราศาสตร์และแคลคูลัส ซึ่งทำให้เขาเข้าใจตัวเองว่าต้องการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และทำให้มุ่งมั่นมากขึ้นจนสามารถเข้าเรียนที่ Ecole Normale Supérieure ได้ในปี ค.ศ. 1963 ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เขาได้เรียนวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และเริ่มรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของควอนตัมจากอาจารย์ที่ชื่อ Alfred Kastler (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ. 1966) Jean Brossel และ Claude Cohen-Tannoudji (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ. 1997)
ความประทับใจที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับวิชาควอนตัมทำให้เขาตั้งใจที่จะเป็นนักฟิสิกส์ด้านควอนตัมเลย ในปี ค.ศ. 1967 ได้ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกกับ Claude Cohen-Tannoudji และหลังจากจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าทำวิจัยหลังปริญญาเอกต่อที่ Stanford University โดยเข้าร่วมทีมกับ Arthur Schawlow (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ. 1981) ทั้งยังได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์หนุ่มอย่าง Theodor Hänsch (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ. 2005) เมื่อกลับมาปารีสในปี ค.ศ. 1973 เขาได้เข้าทำงานที่ Ecole Normale Supérieure และตั้งห้องวิจัยของตัวเองขึ้นจากการสนับสนุนของ Jean Brossel (หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ขณะนั้น) ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอโครงการวิจัยของเขาที่ส่งกลับมาให้พิจารณาก่อนกลับมา
ต่อมาในปี ค.ศ. 1975 ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ Paris VI University และในปี ค.ศ. 1999 ทาง Claude Cohen-Tannoudji และ Pierre-Gilles de Gennes (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี ค.ศ. 1991) ได้ชวนให้ไปทำงานที่ Collége de France ซึ่งมีชื่อเสียงมากและเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการสอบ และ ไม่มีการลงทะเบียนเรียน เพียงแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้องบรรยายให้กับสาธารณชนในเรื่องใหม่ๆ ทุกปี และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะประชุมหารือกัน 3 ครั้งต่อปีเพื่อคัดสรรคนใหม่ๆ เข้ามาและหารือเรื่องที่จะบรรยาย ในปี ค.ศ. 2000 ทางมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ได้คัดเลือกเขาเข้าไปร่วมงาน
แหล่งข้อมูล
- G. Brumfiel, “Physics Nobel for quantum optics,” Nature, Vol. 190, p. 152, October 2012.
- https://nobelprize.org , accessed Feb 2019.
- https://en.wikipedia.org , accessed Feb 2019.
- ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร, โฟโทนิกส์ มหัศจรรย์แห่งแสง, นานมีบุ๊คพับลิเคชัน, กรุงเทพฯ, กุมภาพันธ์ 2549.
บทความที่เกี่ยวข้อง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 24 | ค.ศ.1991 สำหรับการค้นพบถึงการนำวิธีการที่ใช้ศึกษาปรากฏการณ์ที่เป็นระเบียบมาใช้กับผลึกเหลวและพอลิเมอร์
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 25 | ค.ศ.1997 สำหรับการพัฒนาวิธีการที่ทำให้อะตอมของก๊าซเย็นลงและการจับอะตอมด้วยแสงเลเซอร์
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 26 | ค.ศ.2000 สำหรับการพัฒนาโครงสร้างสารกึ่งตัวนำแบบหลายชั้นสำหรับใช้ในการสื่อสารความเร็วสูง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 27 | ค.ศ.2001 สำหรับความสำเร็จในการควบแน่นอะตอมของก๊าซให้อยู่ในสถานะ Bose-Einstein
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 28 | ค.ศ.2005 สำหรับผลงานที่เกี่ยวกับการนำทฤษฎีควอนตัมมาอธิบายถึงความเป็นโคฮีเรจน์ของแสงและจากการพัฒนาเทคนิค Optical Frequency Comb สำหรับการวัดที่ให้ความละเอียดสูง
- แสงกับรางวัลโนเบล ตอนที่ 29 | ค.ศ.2009 สำหรับความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับการส่งแสงผ่านเส้นใยนำแสงเพื่อใช้ในการสื่อสาร และ จากการประดิษฐ์วงจรสารกึ่งตัวนำสำหรับรับภาพ