ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย เนคเทค นำทีมนักพัฒนา NETPIE จัดแสดงผลงานที่เกิดจากการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม NETPIE รวมถึงจัดการอบรม Mini Workshop เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในการนำ NETPIE ไปประยุกต์ใช้งานด้าน IoT ที่มหกรรม Digital Thailand 2016 โซน MakerHolic : Maker Meetup ครั้งที่ 4 ห้องเพลนารี ฮอลล์ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
ภายในงานได้จัดแสดงผลงานที่เกิดจากการประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม NETPIE โดยฝีมือเหล่านักพัฒนาคลื่นลูกใหม่ของไทย อาทิ
HONEYLab : สนุกกับชีวิตประจำวัน ด้วย Gadget NETPIE
บูธแสดงผลงานของทีม HONEYLab เป็น หนึ่งในบูธที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในงาน Digital Thailand 2016 เป็นการสร้าง Gadget หรือสิ่งประดิษฐ์ แล้วนำไปประยุกต์ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้และสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ใช้งาน โดยทีมพัฒนา HONEYLab ได้นำผลงานมาจัดแสดงทั้งสิ้น 4 ผลงานด้วยกัน ดังนี้
1. หุ่นยนต์แสดงท่าทาง
หุ่นยนต์แสดงท่าทาง เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้โปรโตคอลของ NETPIE เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่าง Gadget กับ Web Application ใช้งานโดยการสแกน QR Code เพื่อเข้าสู่หน้า Web Application ซึ่งภายใน Web Application ดังกล่าวจะมีรายการท่าทางที่ให้ผู้ใช้งานเลือก เพื่อให้หุ่นยนต์แสดงท่าทางและอารมณ์ตามที่ผู้ใช้กำหนด สามารถนำไปต่อยอดเป็น Gadget เพื่อสร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลาย และสามารถพัฒนาเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กได้ในอนาคต
2. หุ่นยนต์ Galaxy Dog
Animatronic หุ่นยนต์เลียนแบบสุนัข “Galaxy Dog” ช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ใช้งาน เพียงสแกน QR Code เพื่อเข้าไปใน Web Application ผู้ใช้จะสามารถควบคุมการเอียงและหมุนศีรษะของหุ่นยนต์สุนัข ให้เคลื่อนที่ตามทิศทางที่ผู้ใช้กำหนดผ่าน Web Application Galaxy Dog
3. Weather Box
กล่องแสดงและรายงานผลสภาพอากาศ โดยการเลือกตำแหน่งที่ผู้ใช้ต้องการผ่านแผนที่บน Web Application เมื่อผู้ใช้เลือกตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว Web Application จะทำงานร่วมกับ NETPIE และเว็บบริการข้อมูลสภาพอากาศ เพื่อนำไปแสดงผลบน Weather Box เช่น หากตำแหน่งที่เลือกบนแผนที่เป็นพื้นที่ที่มีฝนตก ภายใน Weather Box ก็จะมีฝนตกหรือถ้าขณะนั้นมีแดดออก ก็จะมีแสงไฟสว่างขึ้นภายใน Weather Box เช่นเดียวกัน
4. เกมส์ Planta Gochi
“Planta Gochi” เป็นเกมส์ปลูกต้นไม้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากต้นไม้จริง หลักการสำคัญคือการติดตั้งเซนเซอร์ที่ต้นไม้ของผู้ใช้ เพื่อให้ตัวเกมส์สามารถรับผลและรายงานสภาพความชื้นในดิน, สภาพอากาศ, แสงแดด,ลักษณะกายภาพ และความต้องการของต้นไม้ ตัวเกมส์จะแสดงผลในรูปของการ์ตูน โดยต้นไม้จะสื่อสารกับผู้ใช้ผ่านทางข้อความและสีหน้า คล้ายกับเกมส์ยอดนิยมอย่าง Tamagotchi หรือเกมส์จำลองการเลี้ยงสัตว์เสมือนจริง ด้วยการมาของ เกมส์ Planta Gochi ทำให้การปลูกต้นไม้กลายเป็นเรื่องสนุก ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจและสามารถดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
CEASON : เปลี่ยนบ้านหลังเดิมให้สมาร์ท เพื่อชีวิตที่สมาร์ทยิ่งขึ้น
นายเมธีนัทธ์ คำเพราะ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เจ้าของผลงาน “CEASON” บ้านอัจฉริยะ กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาผลงานบ้านอัจฉริยะว่า ตนเองเคยลืมปิดถังก๊าซหุงต้ม, ลืมปิดไฟเมื่อออกนอกบ้าน รวมถึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดไฟบริเวณรอบๆ บ้านไว้เมื่อถึงเวลากลางคืน จากปัญหาและความต้องการข้างต้นนำไปสู่การแก้ไขและการพัฒนาผลงาน โดยการนำสุดยอดเทคโนโลยีที่สนับสนุนงานด้าน IoT อย่าง NETPIE มาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และพัฒนาออกมาเป็น Application ที่สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอิสระ เช่น เปิด/ปิดหลอดไฟ, พัดลม, เครื่องปรับอากาศ, ตรวจสอบการเปิด/ปิดก๊าซหุงต้ม เป็นต้น
นายเมธีนัทธ์ เสริมว่า ในอนาคตมีแผนพัฒนาระบบอ่านค่าการใช้น้ำประปาภายในบ้าน รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานหรือไม่ และดำเนินการแจ้งเตือนและดำเนินการตัดไฟ เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกภายในบ้าน
INEX : การเรียนรู้เรื่อง IoT ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
INEX ผู้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ได้นำ NETPIE ไปเป็นอีกหนึ่งในเนื้อหาที่ใช้สอนและจัดทำเป็นคู่มือการเรียนรู้ ส่งผลให้ผู้ที่เริ่มทดลองใช้ NETPIE สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยตนเอง สำหรับการแสดงผลงานที่มหกรรม Digital Thailand 2016 ทาง INEX ได้นำตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ NETPIE อย่างง่ายมาร่วมจัดแสดงด้วย เช่น การใช้เซนเซอร์วัดแสง, การใช้เซนเซอร์วัดระยะทาง และการสร้าง Smart Plug เป็นต้น ผลงานคู่มือการเรียนรู้และสื่อการสอนดังกล่าว ช่วยเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการพัฒนางานด้าน IoT และส่งเสริมให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ได้ด้วยตนเอง
Khon Kaen Maker Club : เครื่องให้อาหารปลาพลัง NETPIE
เครื่องให้อาหารปลาของทีม Khon Kaen Maker Club เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในงาน Digital Thailand 2016 เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เลี้ยงปลาที่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกบ้านบ่อยๆ ทำให้ไม่มีเวลาให้อาหารปลา ทีมนักพัฒนา Khon Kaen Maker Club ร่วมกับ NETPIE จึงได้พัฒนา “เครื่องให้อาหารปลาพลัง NETPIE” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอุปกรณ์นี้จะให้อาหารปลาตรงตามเวลาที่ตั้งค่าไว้ สามารถตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ และมีการแสดงผลรายงานค่าต่างๆ ไปยัง Application นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถปรับแต่งหน้าตา Application ได้ตามความต้องการ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะแสดงค่าใดบ้าง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก
Chiang Mai Maker Club : ควบคุมทุกปลั๊กในบ้านด้วย Application เดียว
ด้านทีมนักพัฒนา Chiang Mai Maker Club ชูผลงาน Internet Connected Plug หรือ Smart Plug โดยปลั๊กดังกล่าวสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและสื่อสารกับ Web Application บนมือถือ ส่งผลให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเปิด/ปิดปลั๊กผ่าน Web Application ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าผู้ใช้งานจะอยู่ส่วนใดของโลก เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถที่จะควบคุมการทำงานของปลั๊กได้ สร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้
ทั้งนี้ทีมนักพัฒนา Chiang Mai Maker Club กล่าวว่า ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนา Motion Sensor พลัง NETPIE สำหรับระบบนับจำนวนและแจ้งเตือนเมื่อมีผู้เข้าใช้บริการ มีการรายงานผลไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับร้านสะดวกซื้อหรือห้องสมุดได้
Narin Bannasan : ควบคุมไฟฟ้าในบ้านง่ายๆ ด้วยเสียงพูด
นาย นารินทร์ บรรณสาร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนกมลาไสย ว่าที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมแสดงผลงานการประยุกต์ใช้ NETPIE มาพัฒนาเป็นระบบควบคุมไฟฟ้าภายในบ้านที่สามารถสั่งงานได้ด้วยเสียง โดยใช้ระบบเลขาส่วนตัวสัญชาติไทย หรือ ฟ้าใส เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสั่งเปิดปิดไฟฟ้าในบ้านได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวยังติดตั้งสวิตซ์ไฟสำรอง เพื่อให้ยังสามารถเปิด-ปิดไฟได้ ในกรณีที่ระบบอินเทอร์เน็ตมีปัญหา
วสันต์ ตันสกุล : เมื่อสินค้าโอทอปโดดเข้าวงการ IoT
Pineapple IoT Lamp เป็นการผสมผสานกันระหว่างโคมไฟพื้นบ้านประยุกต์ สินค้าโอทอป จากจังหวัดเชียงใหม่ กับ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) สัญชาติไทยอย่าง NETPIE ส่งผลให้เกิดสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถสร้างรายได้และตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุค Digital Economy ผลงานของนายวสันต์ ตันสกุล นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับวิธีการใช้งาน ให้ผู้ใช้สแกน QR Code เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นแล้ว Application จะจดจำโคมไฟไว้ถาวร ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานไม่ต้องสแกนอีกเมื่อมีการใช้งานในครั้งถัดไป สามารถควบคุมการเปิด/ปิดไฟและรายงานคุณลักษณะของโคมไฟผ่านทาง Application ได้โดยตรง
ผู้สนใจสามารถสั่งผลิตสินค้าโคมไฟผิวไม้ไผ่ IoT นี้ได้ล่วงหน้า นอกจากนี้ผู้ผลิตยังได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตต่อไป
จากการพูดคุยกับเหล่านักพัฒนาที่โซน MakerHolic ผลงานที่พวกเขานำมาจัดแสดงส่วนใหญ่มีความริเริ่มมาจากการหาแนวทางแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน จนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งทีมผู้พัฒนา NETPIE คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการนำ NETPIE มาใช้พัฒนาผลงาน IoT ที่โดดเด่น มีประโยชน์ สามารถอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
- บทความ: สุรสิทธิ์ เหลาภา
- เรียบเรียง: ศศิวิภา หาสุข