- ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (SEC)
- ได้รับรางวัล Best Presentation จากการนำเสนอบทความเรื่อง
- “Security Implementation for Authentication in IoT Environments”
- ในงานประชุมวิชาการ IEEE International Conference on Computer and Communication Systems
- – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (SEC) เนคเทค – สวทช. ได้รับรางวัล Best Presentation จากการนำเสนอบทความเรื่อง Security Implementation for Authentication in IoT Environments ภายใต้ Session ด้าน Data Encryption and Information Security ในงานประชุมวิชาการ IEEE International Conference on Computer and Communication Systems ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Nanyang Technological University (one-north Campus) ประเทศสิงคโปร์
รางวัล Best Presentation นี้จะมอบให้แก่ผู้นำเสนอ 1 คนในแต่ละ Session ซึ่งใน Session ด้าน Data Encryption and Information Security มีบทความทั้งสิ้น 10 บทความ จาก 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ซึ่งบทความที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ร่วมแต่งโดยทีมนักวิจัย ได้แก่ นายเอกฉันท์ รัตนเลิศนุสรณ์ นายพิทักษ์ แท่นแก้ว และ ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์
Security Implementation for Authentication in IoT Environments
สาระสำคัญของบทความได้นำเสนอถึงวิธีการลงทะเบียนอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เพื่อการยืนยันตัวตน ทำให้หน่วยงานเจ้าของ WiFi สามารถควบคุมและดูแลอุปกรณ์ IoT ให้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศของหน่วยงานได้ วิธีที่นำเสนอนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องดัดแปลงอุปกรณ์ IoT แต่อย่างใด จึงเป็นการแก้ไขข้อจำกัดของตัวอุปกรณ์ IoT ที่มีอยู่ตามท้องตลาดที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับฟังก์ชันด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเพียงพอ
โดยงานวิจัยนี้ได้มีการทดสอบในงานวิจัย UNAI Platform ของทีมวิจัยระบบระบุตำแหน่งและบ่งชี้อัตโนมัติ (LAI) และได้ใช้ระบบ Log ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต (INO) งานวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการ ASEAN IVO “Hybrid Security Framework for IoT Networks” เป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานได้แก่ เนคเทค, Posts & Telecommunication Institute of Technology (PTIT) ประเทศเวียดนาม, สำนักวิจัยประยุกต์แห่งมาเลเชีย (MIMOS) และ National Institute of Information and Communications Technology (NICT) ประเทศญี่ปุ่น โดย NICT ได้สนับสนุนค่าเดินทางในการนำเสนอบทความในครั้งนี้
________________________________________________________
- ข้อมูล | ฝ่ายกลยุทธ์พัฒนาบุคลากรวิจัยและพัฒนาองค์กร (PSD)