เนคเทค สวทช. ร่วมโชว์ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. ในงาน “BTFP Showcase 2024”

Facebook
Twitter

22 พฤศจิกายน 2567 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. พร้อมด้วยทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ร่วมงาน BTFP Showcase 2024 ซึ่งจัดโดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ภายใต้สโลแกน “ส่งต่อพลังหนุน ส่งทุนสร้างสิ่งดีดี” ที่ได้นำผลงานบางส่วนจากโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. มาจัดแสดงนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย โดยมี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน

จากนั้นเป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ “เขียนอย่างไรให้ได้ทุน” โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ในฐานะคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ คณะทำงานกลั่นกรองโครงการและงบประมาณที่ใช้จ่ายจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ร่วมแบ่งปันมุมมอง เจาะลึกแนวทางในการเขียนโครงการแก่ผู้ที่ประสงค์จะยื่นขอรับทุนสนับสนุนจาก กทปส.

ภายในงานประกอบด้วยบูธนิทรรศการ 12 โครงการ โดย กทปส. ในฐานะกองทุนที่มีวัตถุเพื่อสนับสนุนเงินทุนแก่หน่วยงานที่ยื่นเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุน นำไปทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบุคลากรในสายงาน  ทั้งเพื่อประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ในการนำไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรม

ผลงานจากเนคเทคที่มาร่วมจัดแสดงในปีนี้ คือผลงาน “Zero-Touch Services” วิจัยและพัฒนาโดย ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เป็นระบบให้บริการเน็ตเวิร์คเซอร์วิสด้านความปลอดภัยแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยี Network Functions Virtualization (NFV) เพื่อเพิ่มความเร็ว ความยืดหยุ่น และลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ล่าสุดผลงานนี้ยังได้รับ ‘รางวัลความเป็นเลิศด้านความคิดสร้างสรรค์’ ประเภทต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Prototype) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จาก สกมช. อีกด้วย (อ่านข่าว)

แพลตฟอร์ม Zero-Touch Services ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ตรวจสอบ วิเคราะห์ และตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงมีแดชบอร์ดเฉพาะสำหรับแต่ละองค์กรเพื่อเฝ้าระวังสถานะระบบอย่างต่อเนื่องช่วยองค์กรที่มีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญจำกัดในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง (SMEs) และหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีทีมเฉพาะด้าน

หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางที่ต้องการเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยไซเบอร์และผู้ให้บริการระบบที่ต้องการนำแพลตฟอร์มนี้ไปปรับใช้งาน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ( Zero Touch Services )

และนอกจากนี้ยังมีผลงานจาก สวทช. มาร่วมจัดแสดงอีกหนึ่งผลงาน ได้แก่ “RoboIoT” เป็นแพลตฟอร์มยกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันในระดับอาเซียนผ่านการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่ทันสมัย มีการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย ผู้ผลิต และภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์บริการ การเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรม ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าหุ่นยนต์และ IoT จากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในภาคธุรกิจไทย เหมาะสำหรับผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์และ IoT ในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องการนวัตกรรมหุ่นยนต์และ IoT เช่น การเกษตร การแพทย์ และการผลิต