เนคเทค สวทช. จับมือ อพท. และ บพข. นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Facebook
Twitter
เนคเทค สวทช. โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. จัดกิจกรรมประมวลภาพความสำเร็จตลอดทั้งโครงการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ของชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยหลังภาวะโควิด 19 วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ณ ณ โซน Beacon ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
ภายในงานนำเสนอการผลงานต่อยอด “นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม” ที่เน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงและใช้งานในรูปแบบเปิด (linked data and open data) พัฒนาโมดูลเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแพลตฟอร์มให้รองรับการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์การบริการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และนำร่องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนนพร่อง 10 พื้นที่ มีการนำได้นำศิลปะ วัฒนธรรมพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ชุมชน รวมไปถึงสินค้าเด่นของชุมชน มาจัดแสดงและจำหน่าย ในงานเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสและเข้าถึง
 
อีกทั้งยังจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับ เนคเทค สวทช. เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์ โดยมีนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อพท. และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค ร่วมลงนาม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวแสดงความยินดี
 

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผอ. อพท. กล่าวว่า อพท. เชื่อเสมอว่า “ทำท่องเที่ยว เก่งคนเดียวไม่ได้” เราจึงมุ่งเน้นประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรของการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ อพท. เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การสร้างประโยชน์จากการใช้นวัตกรรมมายกระดับการท่องเที่ยวในระดับชุมชน จนถึงระดับแหล่งท่องเที่ยว ไปสู่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนา เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว โดยการนำร่องในระยะแรก อพท. และ NECTEC ได้คัดเลือก 10 ชุมชนนำร่องซึ่งล้วนเป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ทำงานร่วมกับ อพท. จนมีความเข้มแข็ง ซึ่งการทำงานร่วมกับ NECTEC ในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในการสื่อความหมายนำเที่ยวได้ในระยะยาว

         ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยหลังภาวะโควิด19” ซึ่ง เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มต้นแบบที่เนคเทคพัฒนาขึ้นในชื่อว่า “นวนุรักษ์” โดยเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงและใช้งานในรูปแบบเปิด (linked data and open data) และพัฒนาโมดูลต่างๆ เพื่อขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลให้รองรับการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์บริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำร่องทดลองกับพื้นที่ในการดูแล และได้รับคำแนะนำจาก อพท.  จำนวน 10 พื้นที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่

  1. ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา   
  2. ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน
  3. ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
  4. ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี
  5. ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
  6. ชุมชนเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
  7. ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหนองอ้อ-ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
  8. หมู่บ้านวัฒนธรรมไทญ้อบ้านโพน จังหวัดนครพนม
  9. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด
  10. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำมูลบ้านสุขสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา

เนคเทค สวทช. ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในส่วนกลางอย่าง เนคเทค ไปขยายผลถ่ายทอดสู่ชุมชนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริง เนคเทคต้องขอขอบคุณ 

1)       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
2)       มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
3)       มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่
4)       วิทยาลัยชุมชนน่าน
5)       มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร
6)       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7)       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
และ 8) มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

เนคเทคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์ ที่ศูนย์ฯ วิจัยและพัฒนาอย่างทุ่มเทตลอดมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยบูรณาการข้อมูลในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว และหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

รองศาสตราจารย์ ดร. สิรี  ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า 

บพข. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ภายใต้การกำกับของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

กรอบการให้ทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม หลัก ได้แก่ 1) อาหารมูลค่าสูง 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ 4) ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5) ดิจิทัลแพลตฟอร์ม 6) เศรษฐกิจหมุนเวียน และ 7) ระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

บพข. ในนามผู้ให้ทุนสนับสนุนทุนในการดำเนิน “โครงการการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยหลังภาวะโควิด19” ภายใต้กลุ่มแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนา ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เราต้องตามให้ทัน จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ก้าวไปสู่โลกเมทาเวิร์ส และจะก้าวล้ำหน้าไปอีกมากในอนาคต การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบริหารจัดการคลังข้อมูลดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล แสดงผลข้อมูล และการให้บริการข้อมูล สำหรับต่อยอดการนำข้อมูลจากคลังข้อมูลไปสร้างมูลค่าส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำร่องทดลองกับเครือข่ายที่มีความพร้อม และขยายเครือข่ายหน่วยงานให้บริการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลผ่านบริการที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้

บพข. ยินดีที่ได้เห็นถึงความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทั้งสองหน่วยงาน (เนคเทค สวทช. และ อพท.) ที่นำมาสู่การลงนาม MOU ในวันนี้ รวมไปถึงความร่วมมือในการประสานงานวิจัยกับชุมชนท่องเที่ยวทั้ง 10 แห่ง ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร่างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาคทั้ง 8 แห่ง