โทรศัพท์มือถือหลากหลายแบรนด์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ละรุ่นถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุด นอกเหนือจากคุณสมบัติการใช้งานและสมรรถนะที่ตรงใจ คุณภาพและมาตรฐานของมือถือเครื่องดังกล่าวก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ซื้อจะต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
วันนี้…เนคเทคจะพามาดูว่าก่อนที่มือถือเหล่านั้นจะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานอย่างไรบ้าง
- กระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 1 : ผู้ประกอบการต้องขอรับใบอนุญาตจำหน่ายโทรศัพท์มือถือจากสำนักงานกสทช. โดย
- วิธีที่ 1 การตรวจสอบมาตรฐาน
- สำนักงานกสทช. จะพิจารณาตรวจสอบความสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีการใน ข้อหนึ่งข้อใดต่อไปนี้
- รายงานผลการทดสอบจาก ห้องปฏิบัติการทดสอบ (Testing LAB) ภายในประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงาน กสทช. อาทิ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)< https://ptec.or.th > สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)
- รายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบ (Testing LAB) ต่างประเทศ โดยรายการมาตรฐานที่ต้องตรวจสอบมีดังนี้
- ความปลอดภัย
- ความปลอดภัยทางไฟฟ้า กทช.มท.4001 (มอก.1561)
- ความปลอดภัยต่อสุขภาพ กทช.มท.5001
- ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM
- ข้อกำหนดทางเทคนิค ESTI EN 300 607-1, ESTI TS 15101-1 หรือ ESTI EN 301 511
- ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC)
- กสทช.มท.3001
- ความปลอดภัย
- วิธีที่ 2 การตรวจสอบทางเทคนิคอื่น โดยการรับรองตนเอง (Supplier’s Declaration of Conformity: SDoC)
ขั้นตอนที่ 2 : สำนักงาน กสทช. ออกใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เมื่อโทรศัพท์มือถือผ่านการตรวจสอบตามข้อ 1 สำนักงาน กสทช. จะออกใบรับรอง และเครื่องหมายการอนุญาต ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยได้
ขั้นตอนที่ 3 : การตรวจสอบหลังได้รับอนุญาต ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือที่ได้รับอนุญาต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
- ตรวจสอบหลักฐานความสอดคล้องตามมาตรฐาน
- ตรวจสอบการแสดงเครื่องหมายบนสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด
- สุ่มสินค้าจากโรงงาน/ตลาด มาตรวจสอบ
- การรับข้อร้องเรียน
จากขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโทรศัพท์มือถือที่กล่าวข้างต้น พบว่ายังมีปัญหา หรือจุดที่ยังขาดไป ดังนี้
- การตรวจสอบโดยใช้รายงานผลการทดสอบเพียงอย่างเดียวนั้น สามารถยืนยันคุณภาพได้เฉพาะตัวอย่างอุปกรณ์ที่ถูกทดสอบและระบุในรายงานผลการทดสอบเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
- มาตรฐานการทดสอบยังไม่ครอบคลุมความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมไทย ที่มีความแตกต่างจากต่างประเทศ เช่น สภาพภูมิอากาศ ความร้อน และความชื้น และที่สำคัญ ยังขาดการทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน
- ความเชื่อถือได้ของผลทดสอบ จากต่างประเทศ
- ความรับผิดชอบต่อความเสียหายของอุปกรณ์ ของหน่วยตรวจสอบ
- การตรวจสอบหลังการให้อนุญาต ที่ยังไม่พบการดำเนินการที่ชัดเจน
จากปัญหาข้างต้น สามารถแก้ไขได้โดยการใช้บริการหน่วยงานรับรอง (Certification Body : CB) ในประเทศ ตรวจสอบแทน กสทช. ซึ่งได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ NECTEC ซึ่งเป็น CB ที่ได้รับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC17065
- ข้อดีของการใช้งานหน่วยรับรองดังกล่าว คือ
- ลดความเสี่ยงต่อคุณภาพสินค้า สามารถตรวจสอบได้
- ลดภาระการดำเนินงานของหน่วยกำกับดูแล อย่าง กสทช.
- กรณีที่สินค้ามีปัญหา หน่วยงานรับรอง (CB) จะเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบการตรวจสอบ
- การตรวจสอบหลังอนุญาต CB จะช่วยสุ่มตัวอย่างจากท้องตลาด เพื่อตรวจสอบร่วมกับการประเมินระบบควบคุมคุณภาพ หรือ กระบวนการผลิตและบริการ
กระบวนการตรวจสอบรับรองเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญ ในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
งานรับรองคุณภาพบริภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เนคเทค