- ความท้าทายจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก้าวตามแทบไม่ทัน ส่งผลให้เราต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนา “คน” ให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ “21st Century Skill” เพราะการเรียนรู้ในศาสตร์วิชาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่า…นี่ไม่ใช่โจทย์ใหม่ของการศึกษาไทย
การพัฒนา “ทักษะ” ในอนาคต
เนื่องด้วย “ทักษะ” นั้นไม่สามารถสร้างกันได้ง่ายๆ เพียงแค่นั่งฟังสิ่งที่ครูสอน แต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องผ่านการลงมือปฏิบัติ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาทักษะผ่านสื่อดิจิทัลสู่อนาคต จำเป็นต้องประกอบด้วยบทบาทครูผู้สอนและรูปแบบการเรียนรู้ในห้องเรียน โดย
- 1. บทบาทครู
- ปรับเปลี่ยนจาก ผู้ให้ความรู้ (Lecturer) มาเป็น ผู้สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ (Facilitator) เพราะการถ่ายทอดวิชาความรู้เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้คำแนะนำและเสนอแนะแนวทาง เพื่อเป็นการกระตุ้นทักษะและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ แก่นักเรียนมากขึ้น เช่น การประยุกต์ใช้โปรแกรมการสอนแบบ ADDIE MODEL ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ Analysis > Design > Develop > Implement > Evaluate โดยแต่ละขั้นตอนสามารถยืดหยุ่นได้ตามความสามารถของผู้เรียนเพื่อประสิทธิภาพของการเรียนรู้
- 2. รูปแบบการเรียนรู้
- ทักษะในด้านการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งสำคัญต่อชีวิตการทำงานนั้น ระบบการศึกษาในรูปแบบดั้งเดิม ก็ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มศาสตร์เชี่ยวชาญทักษะเฉพาะด้าน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศระหว่างครูและผู้เรียนให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยสามารถฟีดแบคและชี้แจงได้ในทันที และผลลัพธ์ของการเรียนในรูปแบบดังกล่าวก็มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาคนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ เพราะเน้นทักษะfhด้านการจัดการกับปัญหา (Competencies) โดยเฉพาะในด้าน การสื่อสารและการมีส่วนร่วม (Communication & Collaboration)
- นอกจากนี้ รูปแบบการหาความรู้หรือการเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน Smart Device เช่น สมาร์ทโฟน แท็ปแล็ต ก็ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ส่วนบุคคล (Individual Learning) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีผลการวิจัยรายงานใน EdWeek ได้สรุปไว้ว่า การเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ Smart Device มีผลกระทบทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อคะแนนสอบของนักเรียน โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกด้วย!
องค์ประกอบการสำคัญเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเติบโตของพัฒนาการของตลาดด้านเทคโนโลยีการศึกษาด้วยเช่นกัน โดยพบว่าตลาดเอเชียจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นด้วยมูลค่าเกือบ 2 พันล้านบาทเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มตลาดห้องเรียนดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านจำนวนธุรกิจรวมไปถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่มีการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งกล่าวโดยรวมได้ว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ จะมีส่วนแบ่งตลาดและการเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 17 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ในการเข้าสู่ตลาดเทคโนโลยีการศึกษามีทั้งโจทย์ด้านการเปลี่ยนแปลงทิศทางทักษะของเด็กและเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่ง “ทักษะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21” คือ ทักษะในด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในโลกอนาคต ผลจากการสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงานโดย World Economic Forum (WEF) สรุปทักษะจำเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- Foundational Literacies: ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน
- Competencies: ทักษะที่ต้องนำมาใช้เพื่อจัดการกับปัญหาหรือความท้าทายที่ต้องเจอ
- Character Qualities: ทักษะที่ต้องใช้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อม
เทรนด์ของเทคโนโลยี
ในขณะเดียวกันเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น มีบทบาทสำคัญโดยเป็นทั้งโจทย์ทักษะแรงงานและสื่อการเรียนรู้ในอนาคต ที่ส่งผลให้ภาคการศึกษาจำเป็นต้องหันมาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเดิมให้ทันสถานการณ์มากขึ้น เช่น การสร้างพื้นที่ให้เด็กได้ใช้ความคิดและจินตนาการ การพัฒนารูปแบบการเรียนออนไลน์ การสร้างหุ่นยนต์ การเรียนรู้ผ่านโลกเสมือนจริง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ การพัฒนาอุปกรณ์ wearable ฯลฯ ซึ่งทิศทางการพัฒนาทักษะสอดคล้องกับเทคโนโลยีแต่ละช่วงเวลาสำคัญ อาทิ
- ระยะสั้น: มุ่งเน้นทักษะความเข้าใจเรื่องภาษาอนาคต (โค้ดและระบบการเขียนโค้ด) และเปลี่ยนบทบาทนักเรียนให้เป็นผู้สร้างสรรค์ ใช้จินตนาการอย่างไร้ขีดจำกัดมากขึ้น
- ระยะกลาง: การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ร่วมมือกัน รวมถึงการเรียนรู้เชิงลึก เริ่มมีบทบาทมากขึ้น
- ระยะยาว: รูปแบบการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งการปฏิวัติห้องเรียนให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัยทั้งความคิดและเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาแบบบูรณาการกระบวนทัศน์ในห้องเรียนแบบดั้งเดิมไปพร้อมกับประสบการณ์ของวิธีการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่
นอกจากนี้ เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาทักษะด้าน Logic & Analytics ก็สำคัญไม่แพ้กัน ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาบรรจุอยู่ในหลักสูตรและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น
- Coding Literacy
- Coding Literacy หรือทักษะความเข้าใจเรื่องโค้ดและระบบการเขียนโค้ดถูกนำมาเป็นส่วน หนึ่งของการเรียนรู้ภาษา ที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในวิชาคอมพิวเตอร์ แต่เป็นทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ที่นักเรียนทุกคนควรต้องมี
- Augmented Reality (AR)
- Augmented Reality (AR) ถูกนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาและ อุดมศึกษา การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิดการตอบสนองและเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายขึ้นด้วยการแสดงผลเป็นภาพในมุมมองจากโลกความเป็นจริง ทั้งยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบเดียวกันและการเรียนรู้ร่วมกันได้อีกด้วย ดังที่ ลิซ่า ดันนิแกน คณะกรรมการบริหาร Douglas County School District กล่าวว่า “AR เป็นเครื่องมือสุดยอดที่จะช่วยในการเรียนการสอนเด็ก ELL (English Language Learner) ให้มีประสิทธิภาพการเรียนที่ดีขึ้น และยังช่วยเรื่องพัฒนาการการรับรู้อารมณ์ และจินตนาการของผู้เรียนด้วย”
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแนวคิด “ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21” ซึ่งพบว่าครูและนักเรียนส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์และ Smart Device เพื่อส่งเสริมการเรียนเรียนรู้และการวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนได้ตามสถานการณ์ ช่วยให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น รวมถึงประสิทธิภาพการเรียนการสอนที่ดีขึ้นเช่นกัน
แล้ว…ไทยพร้อมหรือยัง?
- กลับมามองที่ไทยกันบ้าง… ในด้าน “การปรับตัวเพื่อเทคโนโลยีในการศึกษาไทย”
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของเด็กไทยผ่านการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการจะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของการพัฒนาประเทศ ดังเช่น ในปี 2561 งบประมาณด้านการศึกษาไทยได้รับการจัดสรรมากเป็นอันดับ 1 หรือประมาณ 510 ล้านบาท (17% ของงบประมาณทั้งหมด) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ สหรัฐฯ ที่ใช้งบประมาณถึง 18 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาครูและระบบการศึกษา แต่ยังพบว่า ผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ของเด็กไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานติดต่อกันหลายปี!
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นว่าเด็กไทยขาดทักษะสำคัญทั้ง 3 กลุ่มที่ World Economic Forum (WEF) ได้สรุปไว้ ซึ่งได้แก่ การแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์เหตุผล และทักษะภาษาอังกฤษ
ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ทุกภาคส่วนมุ่งเน้นกลไกขับเคลื่อนสำคัญใน 3 ส่วน คือ
- เนื้อหา : ภาครัฐและสถาบันการศึกษาได้พยายามปรับปรุงหลักสูตรเนื้อหาให้มีความทันสมัย เสมอภาค และสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดแรงงาน
- การจัดแนวทางการศึกษา : พบตัวอย่างโครงการสะเต็มศึกษา (STEM) ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน
- การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ : รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณที่เกี่ยวข้องหลายโครงการ เช่น โครงการ Coding at school Powered by KidBright เพื่อกระจายบอร์ดสมองกลสัญชาติไทย กว่า 200,000 ชุด ให้โรงเรียนกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ การพัฒนาระบบ MOOC หรือ หลักสูตรการเรียนออนไลน์ ซึ่งรัฐสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากเพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รวบรวมคลังข้อมูลต่าง ๆ
นอกจากนี้แล้วยังพบความเหลื่อมล้ำของความเท่าเทียมและการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนและเทคโนโลยีระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในต่างจังหวัด ซึ่งยังไม่หมดไปจากปัญหาการศึกษาไทย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะจริงจังกับการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาคนให้มี “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ….นี่คือโจทย์สำคัญของเนคเทคเช่นเดียวกัน
จัดทำโดย
- บทความ | ดร.กุสุมาภรณ์ สมพงษ์ , สิริสุดา รอดทอง
- ทีมงานวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี (MIIT)
- ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค-สวทช.
- เรียบเรียงและภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข , กรรวี แก้วมูล
- หมายเหตุ :
- เอกสารที่ปรากฏฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นและการวิเคราะห์ของทีมงาน MIIT จากจากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามข้อคิดเห็นดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) และขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณใดๆตามความเหมาะสมกับสถานการณ์โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
อ้างอิง
- Eden Dahlstrom. 6 Key Trends in Educational Technology. < https://www.educationandcareernews.com/learning-tools/6-key-trends-in-education-technology > สืบค้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2018.
- Jenny Soffel พฤษภาคม 2016. What are the 21st-century skills every student needs?. < https://www.weforum.org/agenda/2016/03/21st-century-skills-future-jobs-students/ >
- กางข้อมูลการศึกษาไทยทำไมย่ำอยู่กับที่. < https://www.pptvhd36.com/news > สืบค้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2018.
- จันจิรา ทาเอื้อ. ครูในศตวรรษที่ 21. < https://janjirahj.wordpress.com > สืบค้นวันที่ 28 ธันวาคม 2018.
- Attila Főző ตุลาคม 2016. Technology trend in education. < https://www.slideshare.net/eTwinningHU/technology-trend-in-education-attila-fz >
- Maytwin P., มิถุนายน 2018. 21st-Century Skill: ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 < https://medium.com/base-the-business-playhouse/21st-century-skill >
- ไทยพับลิก้า มิถุนายน 2017, งบประมาณปี’61 หั่นงบกลาง-ศึกษา โปะมหาดไทย-คลัง-กลาโหม ชี้ตั้งวงเงินใช้หนี้ขาดเกือบ 3 หมื่นล้าน. < https://thaipublica.org/2017/06/budgeting-prayuth-government-2561/ >