วิสัยทัศน์สู่การเป็น Makers Nation
- คำแถลงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งนักพัฒนา “Makers Nation”
- โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
- 18 มกราคม พ.ศ. 2561
…สวัสดีครับ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นผลงานของ เนคเทค-สวทช. ได้รับการถ่ายทอดไปสู่บริษัท Startup ได้เป็นอย่างดีในวันนี้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดนั้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการคาดหวังเป็นอย่างสูงว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของสรรพสิ่งที่เรียกว่า Internet of Things หรือ IoT
ในภาพรวมนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเป้าหมายในนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในการตอบโจทย์สำคัญของประเทศทั้งสามด้าน ได้แก่ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “วิทย์สร้างคน” การลดความเหลื่อมล้ำ หรือที่เรียกว่า “วิทย์แก้จน” และสุดท้าย การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือ “วิทย์เสริมแกร่ง” ซึ่งเทคโนโลยี IoT นั้นนับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์สำคัญของประเทศทั้งสามด้าน
ในด้านการเตรียมสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศนั้น รัฐบาลนี้โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็น Makers Nation ซึ่งหมายถึงการเป็นประเทศที่คนมีวัฒนธรรมและความเชื่อมั่นในการสร้างสรรค์และประดิษฐ์ผลงานได้เอง เยาวชนมีความสนุกและเพลิดเพลินกับการสร้าง การประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ โดยไม่ใช่เป็นการซื้อมาใช้อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เกมส์ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เด็กและเยาวชนก็สามารถสร้างหรือประกอบเองได้
โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ของบประมาณเพื่อเริ่มโครงการ Coding at School ซึ่งจะมอบชุดอุปกรณ์ KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดวงจรสำหรับการหัดเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ IoT โดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไปยังชุมนุมวิทยาศาสตร์ในกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมเป็นจำนวนกว่า 200,000 ชุด เพื่อให้เกิดกำลังขับเคลื่อนเป็น Maker Movement ในหมู่เยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะต่อยอดให้เยาวชนสนใจในด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต โดยโครงการนี้จะเริ่มส่งมอบบอร์ด KidBright ให้กับโรงเรียนภายในปี 2561 นี้
กล่าวคือ เราให้ความสำคัญกับ IoT …ไม่เพียงในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้นแต่ในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยีด้วย เราต้องทำให้ IoT เป็นเทคโนโลยีที่ “ทุกคนสร้างได้”และสร้างความมั่นใจและความสามารถของเยาวชนให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็น Maker ในอนาคต
การเปิดตัว IoT Platform จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวันนี้ เปรียบได้ว่านี่คือเราได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับ System Integrators และวิศวกรในภาคอุตสหกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถรองรับเหล่า maker ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง เพราะ NETPIE จะอำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด นั่นคือพัฒนาอุปกรณ์ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการติดตั้งดูแลระบบสื่อสาร ระบบเซิร์ฟเวอร์ หรือฐานข้อมูลใดๆ ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่แพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้ ดังนั้นบริการแพลตฟอร์ม NETPIE จึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถและความเข้มแข็งด้าน IoT ให้กับประเทศไทย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า… ในภาพรวม IoT Platform ที่เป็นงานวิจัยหลักของการแถลงข่าวในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้เตรียมพัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็น Makers Nation นั่นเอง
นักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ได้วิจัยและพัฒนา NETPIE มาอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดให้บริการต่อสาธารณะมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่ง NETPIE ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศมากกว่า 11,000 ราย NETPIE กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำโครงงานระดับมัธยมศึกษาและวิทยานิพนธ์ระดับอุดมศึกษา
ปัจจุบันเทคโนโลยี NETPIE ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้จริงในหลายภาคส่วน เช่นภาคเกษตร ในการควบคุมสภาพแวดล้อมของโรงเรือน (โรงเห็ด ไร่อ้อย ฟาร์มเมล่อน เป็นต้น) ภาคครัวเรือน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับบ้านอัจฉริยะ ภาคสังคม ในการพัฒนาบริการสำหรับเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดภูเก็ต และภาคการผลิต ในการตรวจสอบสถานะของเครื่องจักรและกระบวนการผลิตในโรงงาน บริษัท นิเด็ค ชิบาอุระ อิเล็คโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
การที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยี IoT Cloud Platform เป็นของตัวเอง จึงเปรียบได้กับประเทศได้ลงเสาเข็มที่แข็งแรงรองรับการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ IoT ในทุกด้านได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะ NETPIE จะช่วย ช่วยลดขั้นตอนการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบ IoT และยังอำนวยความสะดวกในการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามระบบ หากทุกระบบและผลิตภัณฑ์สร้างอยู่บน IoT Cloud Platform เดียวกัน
วันนี้ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งนักพัฒนา หรือ Makers Nation โดยขอเริ่มด้วยการยกระดับ “NETPIE”แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) Platform ที่วิจัยพัฒนาและให้บริการโดยเนคเทค-สวทช. มากว่าสองปี สู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม IoT ถึงการให้บริการอย่างมืออาชีพ พร้อมการให้บริการอย่างคล่องตัว มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งหมดนี้ ผมหวังว่าในอนาคตเราจะมีเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่การเป็น Makers ทั่วประเทศ และเราจะมีสังคมวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ เพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศทั้งการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป…
บทความที่เกี่ยวข้อง
- [Press Release] กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศวิสัยทัศน์สู่การเป็น “Makers Nation” ยกระดับ Startup ให้บริการแพลตฟอร์ม IoT เชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ Thailand 4.0
- NETPIE: Internet of Things
- เนคเทคเยี่ยมชม บ. นิเด็คฯ: กรณีศึกษาการนำ NETPIE ไปประยุกต์ใช้เพื่อมุ่งสู่ Smart Factory
- นิเด็ค ชิบาอุระ อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) มุ่งสู่เป้าหมาย industry 4.0 ภายในปี 2561
- ขับเคลื่อนการศึกษา 4.0 ด้วย Internet of Things
วันที่เผยแพร่ 18 มกราคม 2561 15:30