วันที่ 19 กันยายน 2567 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) โดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ และดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการ ได้ให้การต้อนรับ Mr. Park Yongmin เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทย ในโอกาสให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมหารือการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพัฒนา AI ในประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผลักดัน AI ในสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งทางด้านนโยบาย การส่งเสริมงานวิจัย การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม
ในโอกาสนี้ ดร.ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผน AI แห่งชาติ ได้เล่าถึงภาพรวมแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ AI Thailand ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- การสร้างจริยธรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับการใช้ AI และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน
- โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศ
- สร้างกำลังคน สนับสนุนการศึกษา พัฒนาทักษะ เพื่อผลิตบุคลากรด้าน AI
- วิจัยและพัฒนานวัตกรรม AI ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- ส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐ กลุ่มอุตสาหกรรม และการพัฒนากลไกในการพัฒนาธุรกิจ
ซึ่งภายหลังการประกาศไช้ และดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา (ระยะที่ 1 ปี 2565 – 2566) มีผลงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิ
- ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AIGC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI อย่างถูกต้อง
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน
- ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย
โดยการดำเนินงานขับเคลื่อน AI ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 -2570) ได้กำหนดแผนงานโครงการนำร่อง ชุดที่ 1 ทั้งสิ้น 6 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการพัฒนาศูนย์กลางเชื่อมโยงและการบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย (Travel Link)
(2) โครงการ Strengthening Fraud Detection Ecosystem with Data Lab
(3) โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance Center)
(4) โครงการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย Thai Large Language Model (Thai LLM)
(5) โครงการตรวจสอบและประเมินอัตลักษณ์บุคคลจากข้อมูลชีวมิติ
(6) โครงการ AI-based Machine Vision เพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรม 4.0
ช่วงท้ายของการประชุม Mr. Park Yongmin เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทย ยังได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โอกาส และแนวทางความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาบคุลากร เป็นต้น