10 พฤศจิกายน 2561-เดอะ สตรีท รัชดา: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ประกาศวิสัยทัศน์ เปิดให้นักพัฒนาและเหล่านักประดิษฐ์ในทุกภาคส่วนนำบอร์ด KidBright ไปต่อยอดในกลุ่มนวัตกรไทย ให้เกิดการพัฒนาบอร์ดขยายความสามารถ (Extension board) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย สร้างโอกาส มุมมองการพัฒนาและผลิตบอร์ดสมองกลฝังตัวของประทศไทยให้เกิดระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ตามนโยบาย Makers Nation โดยนางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวถึง เป้าหมายในการเปิดให้นักพัฒนาและเหล่านักประดิษฐ์ในทุกภาคส่วน นำบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ไปพัฒนาต่อยอด ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบอร์ดขยายความสามารถ (Extension board) ในกลุ่มนวัตกรไทย ส่งเสริมให้เกิดเป็น KidBright Community ในรูปแบบความร่วมมือจาก เมกเกอร์ (Maker) 4 ภาค ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ Maker Club ภูเก็ต Maker Club ขอนแก่น Maker Club และ เมืองหลวง Maker Club เป็นการเปิดวิสัยทัศน์ ร่วมกันพัฒนาบอร์ดขยายความสามารถเพื่อเชื่อมต่อกับ KidBright IDE
เมกเกอร์ (Maker) ทั้ง 4 ภาค จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเพื่อรวมกลุ่มนวัตกรไทยในแต่ละพื้นที่ แล้วนำพลังของ Community มาร่วมกันสร้างให้เกิด KidBright : Community–base STEM Education Platform ของประเทศ นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ก่อเกิดรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
ภายในงานมีหัวข้อเสวนาและการบรรยาย KidBright ที่น่าสนใจ พร้อมกันนี้ยังมีบูธจัดแสดงผลงานการประกวดแข่งขัน โครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้วยบอร์ด KidBright: Youth’s Coding Competition (YCCK2018) จากเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกทั่วประเทศ ทั้ง 29 โครงงาน เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะไปศึกษาดูงานที่ Science Centre Singapore พร้อมเงินรางวัล และรางวัลขวัญใจ Maker ทีมที่มีศักยภาพและความพร้อมในการต่อยอดทางธุรกิจซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขัน HONG KONG STUDENT SCIENCE PROJECT COMPETITION 2019 (HKSSPC 2019) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีการสาธิตผลงานตัวอย่างต้นแบบที่พัฒนาผ่าน KidBright Plugins เช่น สถานีวัดอากาศ และผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้วยบอร์ด KidBright จาก เมกเกอร์ (Maker) ภูมิภาค จำนวน 4 กลุ่ม ซึ่งมีศักยภาพต่อยอดทางธุรกิจมาจัดแสดง
อนึ่ง โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน “Coding at School Project” ด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ดำเนินการโดย เนคเทค-สวทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากำลังคนด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ยกระดับความสามารถของเด็กไทยสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับสากล ถ่ายทอดองค์ความรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโดยเฉพาะโรงเรียนในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส และสร้างบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในการสอนแนวใหม่อย่าง STEM (Science Technology Engineering Mathematics) Education โดยได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับโรงเรียน เทรนเนอร์และครู นักเรียน องค์ความรู้ผ่าน www.kid-bright.org การสร้างเครือข่ายผ่านสังคมออนไลน์ การสร้างความรับรู้ผ่านการสื่อสารอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท
ผลการแข่งขัน โครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้วยบอร์ด KidBright: Youth’s Coding Competition (YCCK2018)
- รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30,000.- บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) พร้อมศึกษาดูงานที่ Science Center ที่ประเทศสิงคโปร์
- อุปกรณ์ให้อาหารปลาดุกและทำความทำความสะอาดบ่อแบบอัตโนมัติ โรงเรียนปลาปากวิทยา จ.นครพนม
- โดย ด.ช. ธีรภพ ปุรณกรณ์ นายกะวีวัฒน์ แก่นยางหวาย ด.ช.รัฐกร จวงจันทร์
- รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 20,000.- บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
- กรงเลี้ยงชะมดอัตโนมัติ โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
- โดย นายภาคิน วิเศษเงินทวี, ด.ช.เดชา พิมลมณีกุล, ด.ช.ชวิน วิเศษยิ่งไพศาล
- รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000.- บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
- ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา จ.นครศรีธรรมราช
- โดย ด.ญ.รวิพร รอดภัย, ด.ญ.กันธิมา บุญเกิด, ด.ช.ฑิฆัมพร ไชยณรงค์
- รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 5,000.- บาท (ห้าพันบาทถ้วน)
- 1. เครื่องเตือนภัยน้ำท่วม 24 ชั่วโมง โรงเรียนสองพิทยาคม จ.แพร่
- โดย ด.ญ.ศุภัทรา ศรีวิราช, ด.ช.ธนธรณ์ ชาวสอง ด.ญ. สุวพิชญ์ สมบัตินันท์
- 2. เครื่องอ่านบัตรประจำตัวด้วยแสง ID card reader using light sensor โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กรุงเทพมหานคร
- โดย ด.ญ.รยา วรเศวต
- รางวัลขวัญใจ Maker
- ทีมที่มีศักยภาพและความพร้อมในการต่อยอดทางธุรกิจซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขัน HONG KONG STUDENT SCIENCE PROJECT COMPETITION 2019 (HKSSPC 2019) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
- ได้แก่ ผลงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา จ.นครศรีธรรมราช
- โดย ด.ญ.รวิพรรอดภัย, ด.ญ.กันธิมา บุญเกิด, ด.ช.ฑิฆัมพรไชยณรงค์
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
วันที่เผยแพร่ 10 พฤศจิกายน 2561 10:10