#KidBright ก่อตัวเป็นกระแสที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ด้วยการขับเคลื่อน MAKERS NATION ประเทศไทยกำลังสร้างเศรษฐกิจใหม่ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พยายามพึ่งพาและลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมไปถึงการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทยส่งไปตลาดโลก แล้วกลไกอะไรที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปถึงจุดนั้น
STEM Education ในประเทศไทย
ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพื้นฐานการเรียนการสอนของประเทศไทยในด้าน STEM Education โดยการสร้างเครื่องมือและกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ที่จะพัฒนาเยาวชนไทยไปสู่อุตสาหกรรม หรือวิถีชีวิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย โครงการ Coding at School Powered by KidBright จึงเกิดขึ้น
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้วิจัยและพัฒนาคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือบอร์ดสมองกลฝังตัวที่ชื่อว่า KidBright ด้วยความฝันที่อยากจะให้เด็กไทยมีอุปกรณ์การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างง่ายๆ ดังเช่นที่เด็กนักเรียนในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีใช้ โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือนำเข้าเทคโนโลยีและอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย เริ่มต้นในโต๊ะทำงานเล็กๆของนักวิจัย และนำมาทดสอบกับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 7-13 ปี ณ บ้านหลังหนึ่งกลางทุ่งนาแถวคลองหลวง จ.ปทุมธานี ผลที่ได้คือ KidBright V2016 สามารถช่วยสร้างความเพลิดเพลิน ความสนุกสนาน และแรงบันดาลใจให้เด็กได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เด็กอยากเรียนรู้ที่จะเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพียงเพราะนำกระบวนการทางความคิด ไปลำดับเป็นขั้นตอนด้วยกล่องภาพในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ที่ตัวเองมีอยู่ และส่งคำสั่งนั้นมาที่บอร์ด KidBright ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การเขียนโปรแกรมได้รวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนและสามารถสั่งการบอร์ด KidBright ให้ทำงานตามที่ต้องการได้
8 มิถุนายน 2561 เพียงสองปีหลังจากการพัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright V2018 ก็ได้รับการเปิดตัว และสามารถสร้างผลกระทบให้กับกระบวนการทางด้าน STEM Education และ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (SME) ในด้านการผลิตบอร์ดสมองกลฝังตัวของประเทศไทยอย่างน่าจับตามอง เพราะ ได้เกิดระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีและการศึกษาไปพร้อมกัน เริ่มต้นจากต้นแบบจากห้องปฏิบัติการวิจัยของเนคเทค นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนของไทยที่ร่วมพัฒนาอุปกรณ์จนสามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้ นั่นหมายถึงโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศจะสามารถจัดซื้อบอร์ด KidBright V2018 ได้โดยตรงจากบัญชีนวัตกรรม โดยไม่ต้องมีการแข่งขันจากบอร์ดประเภทเดียวกันจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า แต่ที่สำคัญที่สุดคือ KidBright V2018 ได้สร้างความต้องการที่จะอยากได้อุปกรณ์ชุดนี้ไปใช้เป็นชุดการเรียนการสอนวิชาวิทยาการการคำนวน (การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างง่าย) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั่วประเทศไทย เป็นความต้องการจริงๆ ของนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูที่ได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสบอร์ด KidBright รวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป็นหลักสูตรบังคับในระดับชั้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างครบวงจร อย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในประเทศไทย
โครงการ Big Rock
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้วิสัยทัศน์เกี่ยวกับโครงการนี้ว่า เรากำลังขว้างหินก้อนใหญ่ลงไปในสระ (เรียกว่า โครงการ Big Rock) เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีพลังต่อสังคมไทยในวงกว้าง ภาพปลายสุดที่พึงประสงค์ คือ เด็กไทยจะเก่ง STEM เพราะออกแบบเป็น คำนวณเป็น เขียนโปรแกรมเป็น และประดิษฐ์เป็น รวมทั้งแก้ปัญหาทางวิศวกรรมต่างๆเป็น เมื่อไปเข้าเรียนในสถาบันต่างๆ เด็กไทยรุ่นนี้จะมีทักษะความชำนาญไม่น้อยหน้าคนชาติใด เป้าหมายหลายล้านคน และพึ่งตนเองให้มาก กระทรวงวิทย์จึงจัดงบประมาณแจกสองแสนชุดแรกออกมา เพื่อทำให้เกิดความแพร่หลาย และได้สื่อการเรียนรู้คุณภาพสูง ถือว่าเป็นการเริ่มต้น
เมื่อได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะสามารถพัฒนา และเปิดเผยโปรแกรม และวงจรไฟฟ้าของบอร์ด ในลักษณะ Open Source เพื่อให้ผู้ผลิตต่างๆ สามารถนำไปผลิตได้โดยไม่คิดค่าวิชา และสนับสนุนให้ช่วยกันแพร่กระจายออกไป ทำให้ผู้ปกครองของเด็กสามารถซื้อหากันทั่วไปในราคาย่อมเยา กระจายไปทุกแห่ง ทำให้มีผู้พัฒนาอุปกรณ์เสริมออกมาให้ประดิษฐ์สิ่งใหม่ออกมาได้มาก และร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ จะส่งผลให้เกิดการกระจาย KidBright ไปในวงการศึกษาในระดับนานาชาติด้วย โดยประเทศไทยพร้อมที่จะส่งออกสินค้านี้ไปขาย
จากห้องแล็บสู่ภาคการผลิต
ทางเนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับบริษัท กราวิเทคไทย ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพการออกแบบและการผลิตบอร์ด KidBright โดยละเอียด และคาดว่าจำนวนสองแสนบอร์ดที่รัฐบาลอุดหนุนจะนำไปสู่การใช้งานที่คุ้มค่า เกิดการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดกลุ่มผู้พัฒนาวิทยาศาสตร์ด้วย KidBright ที่เติบโตเป็นปึกแผ่น ทำให้มีการขยายตัว ออกไปในวงกว้าง นอกจากนี้เมื่อโครงการสองแสนบอร์ดสำเร็จ เนคเทค-สวทช. คาดว่า การทำบทเรียนวิทยาศาสตร์ในหลาย ๆ ด้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันส่งเสริมการสินวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะมีตำราและชุดทดลองออกใหม่มารองรับกับเทคโนโลยีใหม่นี้ได้พอดีกับการขยายตัวการใช้ KidBright ในวงกว้าง ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างกันต่อไปในประเทศได้มากกว่านี้ นอกจากนั้น จะมีการเตรียมการให้เขียนตำราและคู่มือการใช้ KidBright ในระดับสูงด้วย เพราะความสามารถของฮาร์ดแวร์บนบอร์ดสูงมาก หากเขียนโปรแกรมในระดับสูง จะสามารถนำไปใช้จริงในโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ยาก ๆ ได้ด้วย ดังที่เราเห็นในตัวอย่าง หุ่นยนต์สองล้อ (Balancing Robot) ที่ทรงตัวได้ วิ่งตามคำสั่งได้ด้วยสมองกลในบอร์ด KidBright เรียกได้ว่าจะเป็นโอกาสของนักวิจัยรวมถึงนักประดิษฐ์ทั่วประเทศที่จะใช้บอร์ดนี้ไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ออกมาได้ดีเท่ากับหรือดีกว่าบอร์ดอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า “โครงการนี้มีโอกาสสูงมาก ที่จะทำให้เกิดยอดขายบอร์ดในตลาดเสรีถึงปีละหนึ่งล้านบอร์ดหรือมากกว่านั้น เนื่องจากเนคเทค สวทช. ประกาศให้โครงการนี้เป็น Open Source ไม่หวงวิชาเก็บไว้ เปิดให้ผู้ผลิตจากที่ไหนก็ได้ไปผลิต ผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะเกิดขึ้นกับเยาวชนไทย เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง แม้ในช่วงขยายผล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ที่ประสงค์ให้ KidBright เป็นตัวเร่งสำคัญ ในการยกระดับความสามารถในการเขียนโปรแกรม คิดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใช้งานได้จริง สร้างชิ้นส่วนระบบต่างๆที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบไอโอที (Internet of Things) และนำไปสู่การพัฒนาประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ได้ เมื่อมีคนไทยที่เก่งดิจิทัลออกมาเป็นกองทัพแล้ว เราจึงจะมีพลังอำนาจที่จะยกระดับประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ได้จริง และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้จริง”
เมื่อ KidBright V2018 ได้รับการเปิดตัว ผู้เชี่ยวชาญในด้าน Coding รวมถึงเมกเกอร์ ในประเทศ ได้แสดงความเห็นผ่าน Social Media ของตนเองในทันที
รศ. ธีรวัฒน์ ประกอบผล
รศ. ธีรวัฒน์ ประกอบผล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขียนไว้ว่า…
“ส่วนตัวชอบสิ่งนี้เป็นที่สุด วันนี้ผมคุยกับผู้ประดิษฐ์ว่าสิ่งนี้หละผมอยากทำ และไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า..แต่น้องคนนี้เขามีวิธีการคิด และวิธีการสอนที่ดีมาก ๆ
ในความคิดส่วนตัวผมนั้น คิดเสมอว่าการเล่นโดรน เล่นเครื่องบิน เมื่อเล่นแบบกีฬาแล้ว ควรเล่นแบบวิทยาศาสตร์ ควรสร้างเอง ไม่ใช่ซื้อมาประกอบแล้วบินสนุกอย่างเดียว เมื่อเราคิดแบบวิทย์จะทำให้สร้างอะไรใหม่ ๆ ออกมาได้
การควบคุมโดรนซึ่งมีมอเตอร์ 4 ตัว นั้นมอเตอร์แต่ละตัวต้องหมุนแล้วทำให้ทอร์คหักล้างกันไป เมื่อโดรนเอียงจะต้องควบคุมให้กลับมาอยู่ในระดับที่ต้องการให้ได้ ดังนั้นการเขียนโปรแกรมควบคุมจะต้องอ่านค่าจากไจโร และนำค่านั้นมาควบคุมการหมุนของมอเตอร์ เรื่องนี้นับว่าไม่ง่ายนักถ้าใช้กล่องสมองกลที่ไม่ได้ออกแบบมาเฉพาะ ไม่ง่ายนักที่ต้องเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ และเขียนโปรแกรมควบคุมเอง
น้องที่พัฒนาบอกว่ายากจริง ๆ ครับ แต่ถ้าจะเริ่มเรียนรู้การเขียนโปรแกรม ให้ลองศึกษาจากรถสองล้อนี้ก่อนครับ หลักการเรียนกัน โดยมีไจโรช่วยในการทรงตัว ลองฝึกเขียนโปรแกรมให้รถเคลื่อนที่ไปได้โดยไม่ล้มครับ สำหรับการเขียนโปรแกรมต้องเป็นอัลกอริทึมที่เร็ว เพื่อให้ประมวลผลได้ทันเวลา
นี่แหละครับ คือตัวอย่างการเรียนรู้อย่างแท้จริงเมื่อเล่นแล้วสร้าง และเมื่อเรามี FAB LAB สิ่งต่าง ๆ เราสามารถสร้างโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้นมาเองได้อีก น่าชื่นชมจริง ๆ ครับ”
นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน
นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสน หรือ หมอจิมมี่ผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Maker Club ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเมกเกอร์ในทันทีว่า ….
“ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ KidBright หน่อยนะครับ
ครั้งแรกที่ผมเห็นบอร์ด KidBright ผมหงุดหงิดมาก ในฐานะเมกเกอร์ KidBright ไม่ใช่บอร์ดที่ดีที่สุดในสายตาของเมกเกอร์ ค่อนข้างมีข้อจำกัดไม่น้อยทีเดียว แต่ผมก็เชื่อว่าคณะผู้พัฒนาคงมีเหตุผลที่ต้องเลือกออกแบบเช่นนั้น
ผมสนใจในบอร์ด KidBright มาก ไม่ใช่เพราะตัวบอร์ด แต่เพราะมันคือโอกาสของประเทศ โอกาสนี้มีไม่มากนัก อาจจะเป็นครั้งนี้ครั้งเดียวด้วยซ้ำที่จะมี ในอดีตช่วงที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู เราเคยมีเน็ตโรงเรียน เน็ตมหาวิทยาลัย ซึ่งเน่าแล้วเน่าอีก พอมายุคโมบายเฟื่องฟู เราก็มี Tablet โรงเรียน จริงๆ แล้วถ้านับโครงการต้นแบบเทียบกัน ผมชอบ One Laptop Per Child ที่เป็นที่มาของ Tablet โรงเรียน มากกว่า BBC micro:bit ที่เป็นต้นแบบของ KidBright ซะอีก
โครงการ Tablet โรงเรียน พังไม่เป็นท่า ด้วยเหตุสำคัญสองประการ ประการแรกคือกระบวนการจัดซื้อ และคุณภาพของสินค้า ประการที่สอง คือ Content ที่บรรจุใน Tablet และ หลักสูตรที่ใช้ประโยชน์
รอบนี้ในโครงการ KidBright เรายังไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อย ปัญหาแรกผ่านพ้นไป รัฐสนับสนุนให้เกิด Hardware ขึ้นมาแจกโรงเรียน 200,000 ชิ้น ด้วยคุณภาพที่ดี ชิพที่ใช้ก็เป็นชิพชั้นนำของตลาดขณะนี้ (ESP32) ไม่เหมือน เอา Tablet จีนมาแล้วคิดจะปั้นเด็กสู้ซิลิคอนวัลเลย์เหมือนโครงการเดิม
ทีนี้ก็มาถึง Content ละครับ เนคเทคประกาศว่าจะเป็น Opensource และ Hardware ก็เป็นที่รู้จักของเมกเกอร์ บอร์ดตกถึงมือเมกเกอร์ไม่กี่วัน ก็แกะกันกระจุย เรียนรู้กันอย่างรวดเร็ว ขุดความสามารถของบอร์ดออกมาอย่างที่เห็นในงาน รอบนี้ดูเหมือนว่า Content ที่เด็กจะสามารถเข้าถึงได้ ไม่ได้มาจากรัฐ และหลักสูตรอย่างเดียว แต่เป็น Content ของ Community และผมเชื่อในพลังของ Community มากครับ เชื่อว่า content เหล่านี้จะทรงพลัง และผลักดันในเด็กๆที่เล่นและเรียน KidBright กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง และเชื่อว่า Community จะช่วยกันทะลายขีดจำกัดของ Hardware ลงอย่างง่ายดาย เหลือเพียงทำยังไงให้เด็กมีจินตนาการและความกล้าคิดกล้าทำกล้าทดลอง
ภาพที่เห็นในข่าววันนี้ (ผมแว่บไปแป๊บเดียวต้องออกมาเพราะติดธุระ) น่าประทับใจมาก อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี รัฐสนับสนุน โรงเรียนสนใจ นักเรียนเข้าร่วม และสำคัญสุดมี Community เข้ามาช่วยสร้าง content และผลักดันตลาด มาร่วมกันครับ ตอนนี้อาจจะไม่ใช่ board หรือ ecosystem ที่ดีที่สุด แต่หากเมกเกอร์ทุกท่านช่วยกัน เราจะผลัก ecosystem และระบบการศึกษาแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ครับ”
ดร.ชานนท์ ตุลาบดี
ดร.ชานนท์ ตุลาบดี CEO แห่ง Gravitech Thai ที่มีความรักในบ้านเกิดเมืองนอน ยอมย้ายฐานธุรกิจการวิจัยพัฒนาและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนในประเทศไทย และลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยของคนไทยไปผลิตก็ได้แสดงเห็นในทันทีว่า …
“หลังจากพิธีการเปิดตัวโครงการ Coding at school โดยใช้บอร์ด KidBright ในการนำร่องเพื่อให้เด็กไทยกว่าล้านคนได้มีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าการเขียนโปรแกรมและอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ผมขอพูดในมุมที่ใกล้ชิดกับนักพัฒนา และเป็นเมกเกอร์ไทยคนหนึ่งนะครับ
โปรเจค KidBright เราเริ่มต้นพัฒนากันมาตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2016 โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านการศึกษา เราต้องการสร้าง platform เพื่อให้เยาวชนของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์, การเขียนโปรแกรม และอุปกรณ์ IoT โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายได้นำประสบการณ์ด้านที่ตัวเองถนัดมาช่วยกันพัฒนาทำให้เราเกิด KidBright เวอร์ชั่นแรกที่ใช้ ESP8266 ในช่วงปลายปี 2016 และได้นำมาทดลองใช้ฝึกหัดให้กับเด็กตลอดปี 2017 ทำให้ทางทีมพัฒนาสามารถเก็บคำแนะนำและปัญหาที่พบจริงกับโรงเรียนในประเทศของเรามาพัฒนาให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่สมบูรณ์มากขึ้น KidBright32 ในต้นปี 2018 ทำให้เรามั่นใจว่าทุกกระบวนการเรียนรู้จะสนุกและแฝงไว้ด้วยทักษะของ STEM ให้น้องๆได้นำจิตนาการแสดงออกมาสู่สิ่งที่จับต้องได้
จริงอยู่ประเทศไทยเราอาจจะตื่นตัวช้ากว่าประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและอเมริกา แต่ผมคิดว่าวันนี้ยังไม่สาย วันนี้ได้เห็นรอยยิ้มของน้องๆที่มาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย และได้เห็นรอยยิ้มของท่านรัฐมนตรีแล้วทำให้เห็นว่าความตั้งใจของพวกเราที่จะพัฒนาเยาวชนของพวกเรานั้นมาถูกทางแล้ว
จริงอยู่ บางคนอาจจะคิดว่า KidBright ไม่ใช่ Hardware, Software หรือ Platform ที่ดีที่สุด แต่มันทำให้พวกเราชาวไทยทุกคนสามารถภูมิใจได้ว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากมันสมองและการพัฒนาจากเพื่อนร่วมชาติของเรา, ผลิตโดยแรงงานไทย และใช้เพื่อเด็กไทย ที่สำคัญคือมันสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อนาคตของชาติเราได้ใช้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมและทักษะที่จะพัฒนาต่อยอดมาเป็นเมกเกอร์ในอนาคต
สำหรับเมกเกอร์ชาวไทย ผมมองว่าเป็นโอกาสดีครับ ถ้าพวกเราเปิดใจและมาช่วยกันพัฒนา ecosystem บอร์ดเสริม, ชุดอุปกรณ์ชุดคิท และบทเรียนต่างๆ มาช่วยกันสร้าง community และ content เพื่อให้เป็นโอกาสทางธุรกิจของพวกท่านทุกๆคน และยังได้ภูมิใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งให้การช่วยพัฒนาสังคมการศึกษาของไทย ผมเองขอให้คำสัญญาว่าจะทำงานอย่างสุดความสามารถในการผลักดันให้ KidBright ไปสู่เวทีโลกให้ได้อย่าง Arduino … รัฐบาลเริ่มต้นให้แล้ว เรามาช่วยกันครับ!”
เมื่อ KidBright 2 แสนบอร์ดไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศ
ในเดือนกรกฎาคม 2561 บอร์ด KidBright จำนวน 2 แสนบอร์ด พร้อมคู่มือการเรียนการสอน จะถูกทยอยส่งให้โรงเรียนของรัฐบาลไทยทั่วประเทศกว่า 1000 โรงเรียนได้ใช้งานกัน พร้อมกับการเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ระหว่าง นักเรียน ครู และเหล่านักพัฒนาที่เว็บไซต์ https://www.kid-bright.org โดยทุกโรงเรียนจะต้องส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อยโรงเรียนละ 3 โครงงาน และจะมีการแข่งขันในรอบสุดท้ายภายในเดือนตุลาคม 2018 ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทคเชื่อมั่นว่า ด้วยคุณภาพของผลงานวิจัยที่ไม่แพ้บอร์ดในประเภทเดียวกันทั่วโลก กระบวนการผลิต และกระบวนการสร้างสังคมสื่อการเรียนรู้ จะช่วยให้นักเรียนในโครงการที่ได้รับอุปกรณ์ไปกว่า 1.5 ล้านคน ได้มีโอกาสสัมผัสและสนุกไปกับการเรียนรู้ STEM Education และหวังว่าในอนาคต KidBright จะสามารถส่งไปยังตลาดโลกได้ในไม่ช้า
จุดเริ่มต้นของงานวิจัย KidBright
จุดเริ่มต้นแรกของ KidBright เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2559 จากนักวิจัยเนคเทคสองท่าน คือ คุณอนุชิต ลีลายุทธ์โท และ ดร.อภิชาติ อินทรพานิชย์ ที่ได้เห็นข่าว BBC สนับสนุนงบประมาณในการผลิต micro bit จำนวน 1 ล้านบอร์ด แจกให้กับเด็กนักเรียนอายุประมาณ 11-12 ปีทั่วประเทศอังกฤษ เพื่อให้เด็ก ๆ ฝึกการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงคิดว่าเด็กๆ ของไทยเราควรได้รับการโอกาสแบบนี้บ้าง และทั้งสองท่านก็มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสมองกลฝังตัวอยู่แล้ว การพัฒนาบอร์ดลักษณะเดียวกับ micro:bit สามารถทำได้ จึงร่วมกันของบประมาณภายในของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จำนวน 99,200 บาท มาทำบอร์ดรุ่นแรกที่ใช้ ESP8266 จำนวนหนึ่ง และนำมาทดสอบใช้งานเด็กอายุระหว่าง 7-13 ปี เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559
การขยายผลการวิจัย KidBright V2016 เนคเทคได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ในการผลิตบอร์ดจำนวน 500 บอร์ด และนำไปทดสอบใช้งานกับโรงเรียนนำร่อง ประกอบด้วย
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จำนวน 50 บอร์ด
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต จำนวน 50 บอร์ด
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 50 บอร์ด
- โรงเรียนชิดใจชื่น ปราจีนบุรี จำนวน 50 บอร์ด
- โรงเรียนบ้านนา นครนายก จำนวน 50 บอร์ด
- โรงเรียนสามโคก ปทุมธานี จำนวน 50 บอร์ด
- เครือข่ายมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 100 บอร์ด
( อ้างอิงโครงการบัวหลวงเพื่อ Kid Bright https://www.bangkokbanksme.com/article/10611 )
นอกเหนือจากการส่งมอบบอร์ดให้กับโรงเรียนนำร่องแล้ว ทางเนคเทคได้จัดอบรมวิธีการใช้งาน KidBright และกิจกรรมการประกวดโครงงานดังนี้
- อบรมการใช้งานให้กับคุณครูที่สอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนนำร่อง วันที่ 28 ธันวาคม 2559
- จัดกิจกรรมให้นักเรียนส่งโครงการเข้าประกวดโดยมีขั้นตอนดังนี้
- จัดทำข้อเสนอโครงงานให้พิจารณา ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560
- คัดเลือกโครงงานจำนวน 10 โครงการจาก 77 โครงงานและนำนักเรียนเข้ารับการอบรมเพิ่มเติม เมื่อ 18-19 กุมภาพันธ์ 2560
- ประกวดโครงการและรับมอบรางวัล วันที่ 20 มีนาคม 2560
- นำผลงานไปแสดงที่งาน NAC 2017
วันที่เผยแพร่ 25 มิถุนายน 2561 08:18