สื่อการเรียนรู้ชุด “การบริหารจัดการน้ำด้วย โคก หนอง นา โมเดล” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื้อหาสอดแทรกด้วยสาระและความบันเทิง โดยแบ่งเป็น 8 ตอน ดังนี้
- ตอนที่ 1 จากศาสตร์พระราชา สู่ โคก หนอง นา โมเดล
- ตอนที่ 2 การออกแบบพื้นที่ด้วยภูมิสังคม
- ตอนที่ 3 การเก็บนํ้าด้วย โคก หนอง นา โมเดล
- ตอนที่ 4 โคก หนอง นา พลิกฟื้นพื้นที่แล้ง ตอนที่ 1
- ตอนที่ 5 โคก หนอง นา พลิกฟื้นพื้นที่แล้ง ตอนที่ 2
- ตอนที่ 6 โคก หนอง นา ดารา โมเดล ตอนที่ 1 (บอย)
- ตอนที่ 7 โคก หนอง นา ดารา โมเดล ตอนที่ 2 (แพนเค้ก)
- ตอนที่ 8 โคก หนอง นา โมเดลเพื่อการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน
- หรือ ชมคลิปทั้งหมดที่นี่
จากศาสตร์พระราชา สู่ โคก หนอง นา โมเดล
“โคก หนอง นา” เป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติน้อมนำพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านได้อย่างสอดคล้องกันโดยแบ่งพื้นที่ เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้
- 30% สำหรับแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่
- 30% สำหรับทำนา ปลูกข้าว
- 30% สำหรับทำโคกหรือป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก็คือปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ คือ
- มีกิน คือ มีผัก มีอาหารไว้กิน
- มีอยู่ คือ สามารถตัดไม้ไปสร้างบ้าน ทำที่อยู่ได้
- มีใช้ คือ มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน ใช้เป็นยาและสมุนไพร ใช้เป็นฟืน เป็นเครื่องมือใช้สอยในบ้าน
- มีความสมบูรณ์ และความร่มเย็น
- 10% สำหรับที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย เป็นต้น
ทุกอย่างทั้งหมดนี้อยู่รวมกันบูรณาการเป็นวรรณะเกษตร ทางมูลนิธิฯ ได้อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจแนวคิดนี้อย่างง่ายๆ โดยเรียกว่า “โคก หนอง นา”
การออกแบบพื้นที่ด้วยภูมิสังคม
ภาวะภูมิสังคม ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของการออกแบบพื้นที่ ภูมิ คือ สภาพทางกายภาพ เช่น สภาพดิน นํ้า ลม สังคม คือ วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งในการออกแบบจะให้ความสำคัญกับ “สังคม” มากกว่า “ภูมิ” คือต้องออกแบบตามสังคมและวัฒนธรรมของคนที่อยู่ แม้ว่าภูมิประเทศจะเหมือนกันก็ตาม หากสังคมต่างกันการออกแบบก็จะต่างกันโดยสิ้นเชิง
การกักเก็บน้ำด้วยโคก หนอง นา โมเดล
นํ้าฝนอาจไร้ค่าและอาจสร้างปัญหาในยามที่มีมากเกินไป แต่หากฝนทิ้งช่วง นํ้าเพียงน้อยนิดก็มีคุณค่ามหาศาล ความไม่สมดุลนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการ “เก็บนํ้า” ในตอนนี้จะเล่าถึงวิธีการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ ซึ่งมี 3 วิธี คือ
- 1. เก็บน้ำไว้ในหนอง : การขุดหนองจะต้องขุดให้คดโค้ง และมีระดับตื้นลึกแตกต่างกันไปในแต่ละจุด ก่อนขุดต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนองเพื่อให้พอใช้งาน
- 2. เก็บน้ำไว้บนโคก : ทำได้โดยการปลูกป่าและเก็บในระบบรากของต้นไม้ที่ปลูกไว้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน ไม้แต่ละระดับควรจะมีอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 21 ชนิด เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบราก เมื่อฝนตกลงมาระบบรากจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดิน
- 3. เก็บไว้ในนา : ยกคันนาให้สูงและกว้าง สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกพืชผักไว้บนคันนาได้อีกด้วย
โคก หนอง นา พลิกฟื้นพื้นที่แล้ง
- “ทำอย่างไรพี่น้องเกษตรกรถึงจะสามารถดูแลตัวเองได้ ทำอย่างไรถึงจะพ้นจากความทุกข์ยาก?”
พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ ได้บอกเล่าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้านด้วยการนำศาสตร์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาชุมชน แม้ในทีแรกจะมีกระแสต่อต้านและมีปัญหาอุปสรรค แต่ด้วยความเชื่อมั่นในศาสตร์และปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าจะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้จริงจึงได้ยืนหยัดดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ยังมีตัวแทนพี่น้องเกษตรกรอีกหลายท่าน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ร่วมพลิกฝื้นพื้นที่แล้งด้วย โคก หนอง นา โมเดล ด้วยความเชื่อมั่นและแรงศรัทธาในหลักปรัชญาของพระราชา ด้วยความหวังที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก อยู่อย่างพอเพียง มีชีวิตที่มั่นคงและมีความสุข
โคก หนอง นา “ดารา” โมเดล
บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเกษตรพอเพียง จะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมพื้นที่ โคก หนอง นา ของตนเอง ที่ จ.สุรินทร์ พร้อมทั้งเปิดใจ “เพราะเหตุใดจึงเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา”
โคก หนอง นา เพื่อการจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน
ด้วยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกร “โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นแนวคิดและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพชีวิตคนไทยที่มีเกษตรกรเป็นฐานรากของสังคม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทางวิชาการต่างๆ ถูกนำมาปรับเป็นคำพูดที่ง่ายต่อการเข้าใจแล้วนำไปสอนและถ่ายทอดแก่ชาวนาเพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อพื้นฐานชีวิตมีมาตรฐานมีความมั่นคงแล้ว ชีวิตคนไทยจึงจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน