กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดทำฐานข้อมูลและภาพถ่ายสถานที่สาธารณะที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศไทย Traffy Fondue ถูกนำมาต่อยอดเผยแพร่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายและสัญลักษณ์ บริการข้อมูล อุปกรณ์ที่จำเป็น ผู้ให้บริการ) ได้อย่างเท่าเทียม โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา และมีกิจกรรมจัดประกวดแข่งขันชิงเงินรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งได้สิ้นสุดกิจกรรมฯ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 4,932 รายการ จากเป้าหมาย 1,500 รายการ ทั้งนี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลในระดับชมเชย ทั้งหมด 5 ท่าน
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ประกาศผลและมอบโล่รางวัลโครงการแพลตฟอร์มการขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ในรูปแบบแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดี เที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” โดยมี ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ผู้นำองค์กรคนพิการ คนพิการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 65 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กรุงเทพฯ
ภายในงาน ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) เนคเทค สวทช. ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ มิติใหม่ในการร่วมสร้างและเข้าถึงข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ร่วมกับวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นางศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ดร.วสันต์ กล่าวว่า แนวคิดขยายผลต่อยอดเพื่อประโยชน์กลุ่มเป้าหมายสูงสุด คือ ปรับปรุงอัปเดทและบำรุงรักษาข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์
1) ทำให้ข้อมูลมีชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาด้วยความร่วมมือของทุกคน ทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ ประชาชนทั่วไป
2) คุณภาพของข้อมูลเมื่อมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นต้องมีการประเมินว่าสามารถใช้งานได้ดีแล้วหรือไม่ หรือควรปรับปรุงอย่างไร
โดยเนคเทค สวทช. มีแนวคิดจะช่วยผู้เชี่ยวชาญที่ต้องไปประเมินในแต่ละสถานที่ โดยใช้ AI นำภาพช่วยประเมินเบื้องต้นได้ว่าผ่านหรือไม่ หากถ้าไม่ผ่านต้องปรับปรุงอย่างไร ซึ่งขั้นต่อไปผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาให้คะแนนอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยทำให้ข้อมูลมีชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเพิ่มปริมาณและคุณภาพของข้อมูล
เมื่อข้อมูลเริ่มมีคุณค่าแล้วขั้น ต่อไปจึงมุ่งผลักดันให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้มากขึ้น เช่น ภาคธุรกิจที่มีหน้าเว็บไซต์หรือมีเครือข่ายอยู่แล้ว สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดธุรกิจได้ รวมถึงขอขอบคุณ สสส.ที่สนับสนุนทุนให้มีเครื่องมือนี้เกิดขึ้น และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ช่วยให้เกิดการขยายผล
ทั้งนี้ จะมีการขยายผลและต่อยอดแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยจะนำข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการมาประเมินจัดระดับ (Ranking Disabilities Friendly) สถานที่ที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งแบ่งเป็น 7 ระดับ และกำหนดประเภทสถานที่ ที่จัดระดับการเข้าถึง อีก 11 ประเภท ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สถานที่ท่องเที่ยว/สวนสาธารณะ ขนส่งสาธารณะ ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา (ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย) โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร นอกจากนี้ กระทรวง พม.โดย พก. เตรียมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไป
1) ศึกษาวิจัยและพัฒนาข้อมูลและโมเดลการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ประเมินและคัดกรองความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุแบบอัตโนมัติในเบื้องต้น
2) ศึกษาออกแบบและพัฒนาระบบให้บริการข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และระบบแสดงผลข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเชิงพื้นที่ (Dashboard) ในรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย ค้นหาและตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใส สำหรับให้ผู้บริหารนำไปใช้วางแผนและตัดสินใจได้ทุกที่ทุกเวลา
และ 3) ศึกษาออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบเปิด (Open Data) และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียน นักศึกษาและพัฒนาเพื่อให้เกิด Application ใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยและตรงต่อความต้องการยิ่งขึ้น โครงการฯ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ประเทศไทยเราจะมีข้อมูลสถานที่ที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นข้อมูลประกอบการที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อให้คนพิการและทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง
“ร่วมสร้างฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ” ไปด้วยกันได้ที่ https://www.traffy.in.th/?page_id=25496