“IoT ทุกคนทำได้” มิติใหม่ของความท้าทาย

Facebook
Twitter
โดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์
นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
IoT ประเทศไทย

เทคโนโลยีการเชื่อมต่อของสรรพสิ่งหรือ Internet of Things หรือ IoT ได้รับการคาดหวังเป็นอย่างสูงว่าเป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่จะมาพลิกโฉมการดำรงชีวิตของมนุษย์ นับตั้งแต่ความชาญฉลาดของที่อยู่อาศัยในการควบคุมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน การควบคุมการสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานภายในอาคาร การควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนและพื้นที่การเกษตร ไปจนถึงการตรวจสอบและควบคุมเครื่องจักรภายในโรงงาน IoT จะช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น ปลอดภัยขึ้น ในภาคธุรกิจ IoT จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

เทคโนโลยี IoT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากประเทศไม่มีองค์ความรู้พื้นฐานด้าน IoT ที่เข้มแข็ง ต่างชาติได้คาดการณ์การเม็ดเงินการลงทุนด้าน IoT ของประเทศไทยที่ $973 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 32,000 ล้านบาทภายในปีพ.ศ. 2563 (อ้างอิงจาก Frost & Sullivan) คงจะดีไม่น้อยถ้าการใช้จ่ายเงินลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในภาคธุรกิจ ภาคสังคมและภาคครัวเรือน นั้นหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ

IoT Market forecast

กล่าวคือ เราต้องให้ความสำคัญกับ IoT ไม่เพียงในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยีด้วย ท่านทราบหรือไม่ว่า สำหรับเทคโนโลยี IoT ประเทศในซีกโลกตะวันตก (ที่เป็นผู้สร้างอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน) กลับไม่ใช่ผู้นำอีกต่อไป IoT กลายเป็นเทคโนโลยีที่ “ทุกคนทำได้” มีการวิจัยและพัฒนา IoT เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะต้นทุนการวิจัยพัฒนาด้าน IoT นั้นไม่สูงมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันโลกยังปราศจากผู้นำด้าน IoT อย่างชัดเจน อันที่จริงแล้ว ทั่วโลกกำลังจับตาดูทวีปเอเชียของเรา ด้วยเหตุผลหลายประการ ประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ที่มีคุณภาพสูงและราคาถูกชนิดที่ไม่มีประเทศใดในโลกแข่งได้ เกาหลี ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้อัจฉริยะ และสมาร์ทโฟน ญี่ปุ่นในฐานะผู้นำในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ประเทศไทยเอง ก็มีศักยภาพไม่น้อยที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี IoT ในระดับภูมิภาค และระดับโลก การที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลกได้นั้น เราต้องเข้าใจบริบทความท้าทายและปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor) ของ IoT ซึ่งผู้เขียนขอจำแนกปัจจัยเหล่านี้ ออกเป็น 5 ด้าน

IoT ประเทศไทย
– ด้านที่หนึ่ง
การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต พื้นฐานสำคัญที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน IoT คือช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะเป็นแบบใช้สายหรือไร้สายก็ได้ จะเป็น WiFi หรือ 3G/4G ก็ได้ ขอเพียงมีบริการอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และที่สำคัญอินเทอร์เน็ตนั้นควรมีความเสถียร
– ด้านที่สอง
โครงสร้างพื้นฐานจำเพาะสำหรับงาน IoT เช่นโครงข่ายไร้สายที่ใช้พลังงานต่ำสำหรับการสื่อสารระหว่างเซนเซอร์หรืออุปกรณ์ IoT ต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า Low-power wide area network (LPWAN) ในส่วนนี้ เมื่อปลายปี 2560 สำนักงาน กสทช. ได้กรุณาปลดล็อคคลื่นความถี่สำหรับใช้งาน IoT ในย่าน 920-925 MHz นับเป็นนิมิตรหมายอันดี นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานจำเพาะสำหรับงาน IoT ยังรวมถึงคลาวด์แพลตฟอร์มสำหรับพัฒนา IoT Application ที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการสื่อสารของอุปกรณ์ IoT ทั้งหมด ในส่วนนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเนคเทค-สวทช. ได้วิจัยพัฒนาและเริ่มให้บริการแพลตฟอร์ม IoT ที่มีชื่อว่าเน็ตพาย (NETPIE) ที่จะช่วยให้การสร้างนวัตกรรม IoT กลายเป็นเรื่องง่ายและทำได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามคอนเซปต์ “ทุกคนทำได้”
– ด้านที่สาม
ปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านที่สาม คือการพัฒนาบุคคลากร IoT ของไทยจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อเรามีบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี IoT อย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งข้อนี้เป็นความท้าทายอย่างมากที่สุด เนื่องจาก IoT เป็นศาสตร์ที่กว้างมาก ต้องผสมผสานความรู้ทั้งด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม การจัดการฐานข้อมูล การจัดการระบบเครือข่าย หรือเรียกว่าเป็นสหวิทยาการ (multi-disciplinary) แม้ว่าประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่ง และมีอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่เข้มแข็ง แต่บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์นั้นยังมีจำนวนจำกัด เราต้องเร่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่รู้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม IoT ได้เอง
– ด้านที่สี่
การสร้างนวัตกรรมขึ้นภายในประเทศ แน่นอนว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และคลาวด์แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง และการมีบุคคลากรที่มีฝีมือและความเชี่ยวชาญ จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม IoT ที่หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ เม็ดเงินลงทุนด้าน IoT ก็สามารถไหลเวียนภายในประเทศ แทนการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือบริการ IoT จากต่างประเทศ
– ด้านที่ห้า
ด้านที่ห้าที่จะเป็นปัจจัยตัดสินความเข้มแข็งด้าน IoT ของประเทศก็คือการมีระบบนิเวศ (Ecosystem) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้าน IoT ที่แข็งแกร่ง ห่วงโซ่คุณค่าของ IoT ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม
Value Chain
IoT Value Chain
  1. กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่นชิพประมวลผล หรือเซนเซอร์
  2. กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ ที่นำเซนเซอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบกันเป็นอุปกรณ์ IoT เช่น อุปกรณ์ Smart Home อุปกรณ์ควบคุมโรงเรือน
  3. กลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  4. กลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์แพลตฟอร์ม เช่น NETPIE
  5. กลุ่มผู้ให้บริการติดตั้งและวางระบบ IoT (System Integrator, Solution Provider)
  6. กลุ่มผู้ใช้งานระบบหรือผลิตภัณฑ์ IoT

ส่วนระบบนิเวศ IoT นั้นนอกจากผู้เล่นทั้งหกกลุ่มในห่วงโซ่แล้ว ยังมีผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริบทที่แวดล้อมอีกเช่น กลุ่มของผู้กำกับดูและและกำหนดนโยบายการพัฒนา IoT กลุ่มผู้กำหนดมาตรฐาน กลุ่มบ่มเพาะธุรกิจ IoT กลุ่มธุรกิจฝึกอบรม IoT กลุ่มนักประดิษฐ์ (Maker) และพื้นที่ประดิษฐ์ (Maker Space)

รัฐต้องเร่งส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้ประกอบการในทุกระดับของห่วงโซ่คุณค่าภายในระบบนิเวศ IoT เพื่อให้แข่งขันได้ และก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี IoT ในระดับภูมิภาคและระดับโลก แนวทางการส่งเสริมทำได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐเองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ภายในประเทศไปใช้งาน หรือในบางกรณีการส่งเสริมที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลให้น้อยที่สุด

ความฝันที่จะเห็นประเทศไทยเป็นผู้เล่นแถวหน้าในตลาด IoT ระดับโลกคงไม่ไกลเกินเอื้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง

วันที่เผยแพร่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 13:26