เนคเทค สวทช. และ กรมควบคุมโรค พัฒนา “INTERVAC” ระบบวัคซีนพาสปอร์ต ต่อยอดข้อมูลสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

Facebook
Twitter

บทความ : วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
วิดีโอ : สุชานันท์ คุ้มมณี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

กระทรวงสาธารณสุข จัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2566 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ พร้อมด้วยนายอับดุลอะซีซ อับดุรเราะห์ (Mr. Abdulaziz Abdullah I. Alkhudhayr, Counsellor) Deputy Head of Mission นายประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม

ภายในงาน มีบริการตรวจสุขภาพให้แก่ชาวไทยมุสลิมก่อนเดินทางไปแสวงบุญ โดยทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ พร้อมออกเอกสารรับรองการให้วัคซีนป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยระบบ “INTERVAC HAJJ” ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพมหานคร วันที่ 9 มีนาคม 2566

ระบบ INTERVAC คืออะไร

ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) เนคเทค สวทช. เผยว่า “เนคเทค สวทช. ได้ร่วมพัฒนายอดระบบ INTERVAC หรือ โครงการ “การพัฒนาระบบอัจฉริยะในการเก็บข้อมูลและออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนเพื่อการเดินทาง (Development of a Smart Travel Vaccination Certificate and Record System) ที่พัฒนาขึ้นโดย กรมควบคุมโรค ซึ่งในระยะแรกใช้กับวัคซีน COVID-19

สำหรับโครงการฯ นี้ ได้ต่อยอดระบบสู่ “INTERVAC HAJJ” เพื่อมาใช้สำหรับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยออกใบรับรองการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เหลือง”

ด้าน ดร.สุนทร ศิระไพศาล นักวิจัย ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) เนคเทค สวทช. อธิบายว่า ระบบ INTERVAC พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนและประชาชนที่เข้ารับบริการ ซึ่งเดิมการออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะจัดทำในรูปแบบ “สมุดเล่มเหลือง” ที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาการทำงานมากขึ้น และไม่สามารถรองรับปริมาณและความต้องการของประชาชนได้ โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลแล้วจะสามารถพิมพ์สมุดเล่มเหลืองได้ทันที พร้อมทั้งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ QR Code

สำหรับ INTERVAC Hajj นอกจากจะปรับเพิ่มชนิดของวัคซีนนอกเหนือจากวัคซีนโควิด-19 แล้ว เนคเทค สวทช. ยังได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ ความเสถียรของระบบ โดยสามารถรองรับผู้ใช้งานในปีนี้กว่า 1,700 คน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วเท่าตัว แต่สามารถบริการประชาชนได้เร็วมากขึ้น รวมถึงได้พัฒนาแดชบอร์ดแสดงจำนวนผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์
ระบบ INTERVAC จะประกอบไป 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
  • ส่วนบันทึกข้อมูล: สำหรับเจ้าหน้าที่ทำการคีย์ข้อมูลข้อมูลประชาชน ข้อมูลการฉีดวัคซีน และข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง
  • ส่วนของการขอใบรับรอง: มีฟังก์ชันที่จะพิมพ์ข้อมูลใบรับรองลงสมุดเล่มเหลืองได้ทันที
  • ส่วนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์: เป็นการออกใบรับรองในรูปแบบ QR CODE สามารถตรวจสอบได้โดยใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า Digital signature ที่สามารถรับรองความถูกต้องของข้อมูล ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เคยถูกแก้ไข และออกโดยกรมควบคุมโรค
ในอนาคตเนคเทค สวทช. จะนำระบบ INTERVAC เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ให้มากขึ้น เช่น ระบบสปสช. ซึ่งบันทึกข้อมูลการตรวจสุขภาพของผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ทั้งก่อน หลังเดินทาง และระหว่างการเดินทางอีกด้วย
ด้านแพทย์หญิงปริณดา วัฒนศรี รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ระบบ INTERVAC เดิมใช้งานเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเนคเทค สวทช.พัฒนาให้สามารถใช้งานในระดับประเทศ สามารถออก QR Code เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก ทำให้ประชาชนสามารถที่จะเดินทางได้อย่างปลอดภัยทั่วโลก ในปีนี้ระบบได้ออกแบบระบบให้มีความปลอดภัยข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น มีความรวดเร็วมากขึ้น ผู้รับบริการไม่ต้องรอนาน ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังได้รวมข้อมูลการฉีดวัคซีนทั้ง 4 ตัวไว้ใน QR Code เดียว เพื่อให้ง่ายต่อเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของวัคซีน ในอนาคตกรมควบคุมโรค และ เนคเทค สวทช. มีทิศทางที่จะพัฒนา INTERVAC เพื่อรองรับข้อมูลการฉีดวัคซีนตัวอื่น ๆ ต่อไป เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ