วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 10 (i-CREATe 2016) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงค์เวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานอำนวยการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2016 ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ศาสตราจารย์ ดร.อัง ไว เต็ก (Dr. Wai Tech Ang) ที่ปรึกษาการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2016 และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้ารับเสด็จฯ
โดยในปีนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่นส์ ออกาไนเซอร์ จำกัด ร่วมกันจัด 4 งานใหญ่เพื่อแสดงสุดยอดนวัตกรรม ยกระดับชีวิตผู้สูงอายุ และผู้พิการไทยเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม ประกอบด้วย
- งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 10 (i-CREATe 2016)
- การแข่งขันออกแบบสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 หุ่นยนต์เพื่อสังคม
- งานการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 หวังสร้างความเท่าเทียมและโอกาสทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ
- งานอินเตอร์แคร์ เอเชีย 2016
งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 10
ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยมีกิจกรรมการนำเสนองานวิจัยพัฒนาและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมาใช้ในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและลดภาระการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาวะหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากแนวโน้มในอนาคต เทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้จะมีความสำคัญและความต้องการมากขึ้นทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ร่วมมือกับ Singapore Therapeutic, Assistive & Rehabilitative Technologies (START) Centre สาธารณรัฐสิงคโปร์ จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (International Convention on Rehabilitation Engineering and Assistive Technology: i-CREATe) เป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน และความพิเศษคือ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 13 องค์กร 10 ประเทศ จัดตั้งภาคีวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย ภายใต้ MOU The CREATe Asia agreement เพื่อขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนา และการบริการด้านนี้ด้วยกัน และในปีนี้ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นประธานของภาคีดังกล่าวจึงเป็นผู้จัดงาน i-CREATe 2016 ซึ่งเป็นการจัดในนาม The CREATe Asia เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ เอ็มเทค ได้ร่วมจัดการแข่งขันออกแบบสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 Robot Design Contest 2016 (RDC 2016) เพื่อเปิดโอกาสทางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการออกแบบหุ่นยนต์ ให้กับกลุ่มเยาวชนได้พัฒนาความสามารถและทักษะในการสร้างหุ่นยนต์ ซึ่งในปีนี้มาในแนวคิดการจัดงาน หุ่นยนต์เพื่อสังคม (Robot for society) กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน i-CREATe 2016 ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงปาฐกถา (Plenary Session) มุ่งเน้นให้เป็นเวทีที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานชั้นนำ การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop Session) มุ่งเน้นให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัย (Paper and Poster Session) การประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับนานาชาติ (Student Innovation Challenge World 2016: SIC World 2016) เพื่อส่งเสริมนิสิต นักศึกษาให้มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมในงานและพระราชทานรางวัลเป็นประจำทุกปี
ในปีนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานรางวัล จากการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาในระดับนานาชาติ (Student Innovation Challenge World 2016: SIC World 2016) ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category) และประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category) จากการคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์ 11 ทีมจากประเทศไทยและผู้สมัครจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Hong Kong) มาเลเซีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สาธารณรัฐสิงคโปร์ รวม 29 ทีม ดังนี้
ประเภทผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Design Category)
- Gold Award Design Category: EASLIDER Project จาก The Hong Kong Polytechnic University
- Silver Award Design Category: โครงการ “อ่านนะ” แอพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารของผู้พิการทางการได้ยิน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ตัวแทนประเทศไทย)
- Bronze Award Design Category: โครงการนวัตกรรมเก้าอี้ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการ จากโรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี (ตัวแทนประเทศไทย)
ประเภทผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (Technology Category)
- Gold Award Technology Category: โครงการ BotTherapist จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ตัวแทนประเทศไทย)
- Silver Award Technology Category: โครงการ Eye Tracker Based Communicator&Home Device Control For Disable จาก Singapore Polytechnic
- Bronze Award Technology Category: โครงการ Knee Guard to Assist Sit to Stand จาก Singapore Institute of Technology
การจัดงานอินเตอร์แคร์ เอเชีย 2016
งานนี้มีแนวคิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้จัดงานได้มองเห็นถึงศักยภาพ และโอกาสที่ประเทศไทยจะมีเวทีที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SME ไทยให้เตรียมพร้อม และมองโอกาสในตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น โดยได้รวบรวมเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ รวมถึงเป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจสร้างความแข็งแกร่งให้ SME ไทยด้วย ซึ่งในตลาดนี้คาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเป็นเท่าตัวในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
งานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2559
ถือเป็นเวทีที่นำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการ ระดับนานาชาติด้านวิศวกรรมฟื้นฟูฯ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากล โดยมีหัวข้อการประชุมคือ “นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” (Innovation for Social Equality) ภายในงานมีการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซนที่ 1 Universal Design โดยจำลองให้เห็นถึงสิ่งกีดขวางที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงของคนพิการจากการเดินทางสัญจรจากบ้านพักไปถึงที่สาธารณะต่างๆ และการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดอุปสรรคให้คนพิการโดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ทางกายภาพที่สามารถปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันของคนพิการ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ลานจอดรถ ลิฟท์ ทางลาด ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อคนพิการทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โซนที่ 2 ส่วนพื้นที่จัดนิทรรศการ ให้ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ การออกแบบการแก้ไขปัญหาคนพิการ เชิง 2 มิติ มีการจัดกิจกรรมประกวดผลงาน หัวข้อเรื่อง “นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” โดยเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดผลงานการออกแบบ เพื่อลดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันของคนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าเทียมเหมือนกับคนทั่วไป