เนคเทค สวทช. นำระบบส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) ร่วมเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังส่วนหนึ่งใน “ดุสิตโมเดล”

Facebook
Twitter

กทม. เปิดโครงการ “ดุสิตโมเดล” เดินหน้าดูแลสุขภาพประชาชนแบบบูรณาการใช้เทคโนโลยีเชื่อมบริการรักษาพยาบาล และระบบบริการสุขภาพเขตเมือง

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เข้าร่วมในพิธีกล่าวคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “การพัฒนาระบบดูแลสุขภาพของประชาชนแบบบูรณาการในพื้นที่เขตดุสิต พระนคร บางซื่อ และบางพลัด (ดุสิตโมเดล)” โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รศ.อนันต์มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผช.ศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ประธานและผู้แทนชุมชน ร่วมภายในงาน ณ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย (เกียกกาย) ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เขตดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565

ดุสิตโมเดล “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ปลอดภัย เชื่อมั่น” 

“ดุสิตโมเดล” เป็นต้นแบบบริการปฐมภูมิเชื่อมต่อตติยภูมิ (วชิรพยาบาล) ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ภายใต้แนวคิด “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ปลอดภัย เชื่อมั่น” ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานเขตพื้นที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 13 กรุงเทพมหานคร และภาคประชาชน มาร่วมกันดำเนินงานด้านสุขภาพแบบบูรณาการ

ทั้งนี้ ให้เป็นความสมัครใจของประชาชนในการเลือกเข้ารับบริการ ด้านสุขภาพกับหน่วยให้บริการปฐมภูมิ ซึ่งได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่นอีก 4 แห่งในพื้นที่ 4เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัดโดยมีโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นหน่วยบริการหลักรับ – ส่งต่อในการดูแลรักษาโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ เชื่อมโยงกันผ่านการใช้เทคโนโลยีระบบบริการสุขภาพ “ดุสิตโมเดล” ได้แก่

1) ระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์และโทรเวชกรรม ผ่านแอปพลิเคชัน Vajira@home ดูแลสุขภาพที่บ้าน จากโรงพยาบาลสู่บ้านคุณ
2) Vajira Smile ยิ้มเมื่อใช้บริการที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
3) ระบบส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ จากหน่วยปฐมภูมิ (e-Referral)สู่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล (V- refer)
4) ระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินอิเล็กทรอนิกส์ (V- EMS)
5) ระบบคลินิกเสมือน ณ หน่วยปฐมภูมิ (Virtual Desktop Infrastructure) เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในบริการสุขภาพที่ได้รับเสมือนได้เข้ารับบริการจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

โดยในระยะแรกเริ่มจากประชาชนที่มีทะเบียนบ้านใน 4 เขตดังกล่าวข้างต้น และจะขยายบริการออกไปเพื่อให้ประชาชนที่พักอาศัยใน 4 เขต แต่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร และนอกกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

ระบบสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral)

เนคเทค สวทช. ได้นำ “ระบบสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral)” เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังในส่วนของระบบส่งต่อผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ จากหน่วยปฐมภูมิ (e-Referral) สู่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล V- refer ซึ่งร่วมพัฒนาและดำเนินงานโดยทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) ฝ่ายสนับสนุนบริการทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี (TSS) และฝ่ายบริหารโครงการวิจัย (RPM) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2556 นำร่องใช้งานในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลเดชและเครือข่าย และโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะและเครือข่ายปัจจุบันระบบ e-Referral พร้อมใช้งานในทุกโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (11 รพ.) สามารถรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากระดับปฐมภูมิ ไปยังระดับทุติยภูมิ ส่งต่อไปยัง ตติยภูมิหรือหน่วยงานเฉพาะทาง และสามารถส่งต่อระหว่างระดับทุติยภูมิ ไปยัง ระดับทุติยภูมิ โดยสามารถเห็นข้อมูลการส่งไป และส่งกลับเพื่อการรักษาได้ต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกอาทิ

  • ลดปัญหาความแออัดในการใช้บริการของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดขั้นตอนและเวลารอคอยและลดความคับคั่งของศูนย์ประสาน
  • บุคลากรทางการแพทย์สามารถเห็นข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยทั้งสองฝั่งแบบ Real Time ได้
  • ลดการสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ขาดข้อมูลสำคัญในเอกสารใบส่งตัว
  • ลดปัญหาการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำซ้อน
  • รองรับการทำงาน การรับส่งต่อผู้ป่วย (e-Refer) , Home Health Care , Health Survey , Home Visit

ขอขอบคุณข้อมูล :

  • งานสื่อสารและส่งเสริมภาพลักษณ์ สำนักงานคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  • ฝ่ายบริหารโครงการวิจัย เนคเทค สวทช.