- เรื่อง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
- ภาพ | กรรวี แก้วมูล
เนคเทคจัดอบรมการใช้งาน eMENSCR ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติเพื่อวิเคราะห์เชิงนโยบาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ eMENSCR เพื่อวางแผนและกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายร่วมอบรมฯ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
- ในโอกาสนี้ ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกียรติกล่าวเปิดการอบรมฯ พร้อมบรรยายในหัวข้อ “ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ”
ดร.วันฉัตร กล่าวว่า eMENSCR เป็นเครื่องมือให้ทุกหน่วยงานร่วมกันวิเคราะห์ นำไปสู่จุดมุ่งหมายของเรา บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมถึงการลดอุปสรรค ข้อจำกัดและกับดักเดิมของภาครัฐที่เราต่างคนต่างทำงาน แต่ครั้งนี้เราหวังให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และนี่คือวัตถุประสงค์หลักของระบบ eMENSCR ที่จะทำให้เราสามารถติดตามการทำงาน ประเมินผล และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้
โดยจุดเริ่มต้นของ eMENSCR สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับเนคเทคหารือกันว่าเราต้องการระบบที่ตอบโจทย์เรื่องนโยบายทุกขั้นตอน โดย eMENSCR ตอบโจทย์การจัดทำนโยบายสาธารณะ ตั้งแต่กระบวนการการจัดทำโครงการ ขั้นตอนการติดตามผล สู่ผลลัพธ์ระยะยาว โดยสามารถสร้างให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันได้ ทุกคนเห็นข้อมูลร่วมกัน เห็นความซ้ำซ้อนของโครงการเพื่อจัดสรรงบประมาณการดำเนินงานที่เหมาะสม หรือสร้างโครงการใหม่ที่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น
- และต่อไปนี้ eMENSCR จะเป็นระบบข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) ด้วยข้อมูลที่ถูกใช้งานและได้รับการขยายผล สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นพลังของข้อมูลอย่างแท้จริง ดังนั้น ท่านนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดพลัง สร้างโครงการ แผนราชการ แผนปฏิบัติการ แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อให้เราบรรลุผลยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทร่วมกัน
ปัจจุบันของ eMENSCR เครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงนโยบาย
- ดร.นวพร สุรัสวดี นักวิจัยทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) เนคเทค-สวทช. กับการบรรยายในหัวข้อ “ปัจจุบันของ eMENSCR เครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงนโยบาย”
โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ 7 เครื่องมือของ eMENSCR ที่สนับสนุนการวิเคราะห์เชิงนโยบายทั้งระดับประเทศ หน่วยงาน และโครงการ ดังนี้
- 1) ส่วนรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแผนระดับที่ 1 และ 2 แสดงข้อมูลของแผนแม่บทระดับชาติ
- สามารถกรองโครงการ (filter) จากเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมผลการดำเนินงานของแผนระดับที่ 1 และ 2 รวมถึงใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือเชิงลึกในระบบ eMENSCR
- 2) รายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
- เป็น Dashboard เป้าหมายแผนแม่บทฯ ที่เปิดเป็นสาธารณะ โดยแสดงสถานะของการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ จากค่าสถานการณ์ตัวชี้วัดที่กำหนดในแผนแม่บทฯ ทั้งหมด 176 เป้าหมาย 211 ตัวชี้วัดไว้ในหน้าเดียวกัน พร้อมแสดงโครงการที่มีความสอดคล้องกับแต่ละเป้าหมายของแผนแม่บทฯ
- 3) ส่วนสรุปจำนวนโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ
- แสดงจำนวนโครงการจำแนกตามหน่วยงาน เพื่อให้เห็นความครอบคลุมของการดำเนินโครงการต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ พร้อมพิจารณาช่องว่างของการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาให้ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
- 4) ส่วนรายงานจำนวนโครงการที่สอดคล้องกับแผนแต่ละระดับ
- แสดงจำนวนโครงการที่สอดคล้องกับมิติต่าง ๆ ของแผนระดับที่ 1 และ 2 ในรูปแบบของการนับโครงการตามปม (node) ของโครงสร้างต้นไม้ (Tree) และแสดงตำแหน่งของปมในต้นไม้ที่มีและไม่มีโครงการมารองรับ เพื่อให้หน่วยงานเห็นความครอบคลุมของการดำเนินโครงการที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศและข้อจำกัดหรือช่องว่างเชิงนโยบาย
- 5) ส่วนแสดงจำนวนโครงการจำแนกตามสถานะการอนุมัติโครงการ
- แสดงจำนวนโครงการจำแนกตามหน่วยงานและสถานการณ์อนุมัติโครงการ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับบริหารจัดการภายในหน่วยงาน
- 6) ส่วนแสดงโครงการทั้งหมด
- แสดงรายชื่อและรายละเอียดโครงการที่มีสถานะเป็นอนุมัติแล้วทั้งหมด พร้อมค้นหาโครงการที่มีความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 1 และ 2 แบบเชิงลึก ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ช่องว่าง หรือ ความซ้ำซ้อนของโครงการทั้งภายในและระหว่างหน่วยงาน
- 7) ส่วนแสดงข้อมูลสถานการณ์รายงานความก้าวหน้า (M6) ของโครงการ
- แสดงข้อมูลสถานะทั้งหมดของการรายงานความก้าวหน้า (M6) ของโครงการภายในหน่วยงาน พร้อมแสดงความก้าวหน้าของเป้าหมายโครงการ ผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ทำให้เห็นภาพรวมของผลการดำเนินโครงการทั้งหมดภายในหน่วยงานรายไตรมาส และเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการเพื่อการติดตามสถานะการรายงานความก้าวหน้า (M6) รายโครงการ
“มองไปข้างหน้า” eMENSCR – แพลตฟอร์มข้อมูลเพื่อการติดตามและประเมินผล
- ดร.อานนท์ แปลงประสพโชค นักวิจัยทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI) เนคเทค-สวทช. กับการบรรยายในหัวข้อ “มองไปข้างหน้า” eMENSCR-แพลตฟอร์มข้อมูลเพื่อการติดตามและประเมินผล
โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับก้าวต่อไปของระบบ eMENSCR ดังนี้ เนคเทคหวังให้ eMENSCR เป็นจุดศูนย์กลางของข้อมูลที่แสดงถึงสถานการณ์หรือตัวชี้วัดของระบบ โดยแผนในอนาคตของ eMENSCR คือ การบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็น One stop service เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลได้ในระบบเดียวกัน ด้วยการสร้างโครงการใหม่จะมีข้อมูลเกิดใหม่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการบริหารจัดการโครงการ (Operation) ข้อมูลสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลผลกระทบ และผลลัพธ์
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่ได้พัฒนาจุดการให้บริการ หรือ เซ็นเซอร์ (sensor) อยู่แล้ว เราอาจนำข้อมูลบางอย่างมาใช้โดยตรง เพื่อลดภาระงานด้าน Data Entry หรือ Survey และได้ค่าที่ทันต่อสถานการณ์ ช่วยให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลโดย eMENSCR จะเป็นการสร้างความโปร่งใส พร้อมได้รับแนวความคิดใหม่ ๆ จากภาคประชาชนและสังคมเพื่อตอบโจทย์ประชาชนได้
eMENSCR in action
การอบรมฯ ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมการอบรมฯ ทุกท่านได้ทดลองใช้งานระบบ eMENSCR ในประเด็นการพัฒนาโครงการ ในหัวข้อ “eMENSCR in action” โดย คุณกันต์ นาคอนันต์พิศาล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งคณะวิทยากรจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)