เนคเทค สวทช. ร่วมผนึกกำลัง ธปท. และ 13 หน่วยงาน สร้าง Big Data พัฒนานโยบาย แก้หนี้เกษตรกรไทยตรงจุด

Facebook
Twitter

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย ร่วมกับ 14 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลที่สามารถสะท้อนสถานะหนี้และศักยภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษา และสร้างความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการให้ผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบและผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนขึ้น เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 

จากข้อมูลสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ พบว่า กว่า 90% ของครัวเรือนมีหนี้สิน และเกินกว่าครึ่งมีภาระหนี้เกินศักยภาพในการชำระและมีหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี และส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการชำระได้เพียงดอกเบี้ย นอกจากนี้ เกษตรกรกว่าครึ่งยังมีอายุมากกว่า 60 ปี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่ถดถอยและพฤติกรรมการชำระหนี้ที่อาจส่งผลให้ปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรกลายเป็นปัญหาหนี้ที่เรื้อรัง (persistent debt) ประกอบกับนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐในปัจจุบันที่เน้นการช่วยเหลือในระยะสั้น ทำให้ไม่สามารถช่วยให้ครัวเรือนเกษตรกรสามารถหลุดพ้นจากปัญหาหนี้ได้ในระยะยาว

ธปท.และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ให้ร่วมกันผลักดันการสร้างรากฐานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อสะท้อนทั้งในมิติของหนี้สินรวมของครัวเรือน พฤติกรรมการชำระหนี้ และศักยภาพในการชำระหนี้ในระดับครัวเรือนเกษตรกร

โดยฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรที่จะนำมาเชื่อมโยงกันภายใต้ความร่วมมือนี้ ประกอบไปด้วย

1) ฐานข้อมูลหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือนจาก ธ.ก.ส. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2) ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปศุสัตว์ ประมง และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย
3) ฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพในการทำเกษตร เช่น การจดทะเบียนมาตรฐานสินค้าและการทำเกษตรอินทรีย์จากกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน
4) ฐานข้อมูลที่สะท้อนโครงสร้างอาชีพ รายได้ และความยากจนในหลายมิติของเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจากสำนักงานปลัดการทรวงการคลัง
5) ฐานข้อมูลรายได้และสวัสดิการจากกรมการพัฒนาชุมชน
6) ฐานข้อมูลความเหมาะสมในการทำการเกษตรจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) 

สำหรับบทบาทของเนคเทค สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.  เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง เปรียบเสมือน “เครื่องจักรสำคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ” รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ให้ความสำคัญของการทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อผลักดันให้เกิดนิเวศของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เนคเทค สวทช. ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ตั้งแต่ข้อมูล TPMAP หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) Agri-Map แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก รวมถึง ฐานข้อมูล Famer One ฐานของข้อมูลเกษตรกรกลางที่เนคเทค สวทช. ได้มีโอกาสเข้าไปพัฒนาแอปพลิเคชันในการทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกร นั้น ทำให้เห็นว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร แต่ยังขาดการบูรณาการในด้านการเชื่อมโยงข้อมูล ทำให้การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด จำเป็นต้องมีการนำแพลตฟอร์ม THAGRI เข้ามาร่วมให้บริการในบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูล 

ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการเริ่มต้นการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในเรื่องของการบูรณาการและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันอย่างมีธรรมาภิบาล ใช้พลังของข้อมูลเป็นฐานในการกำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้อย่างแท้จริงและเป็นจุดเริ่มต้นของการนำแพลตฟอร์มความร่วมมือข้อมูลเกษตรประเทศไทย หรือ Thailand Agricultural Data Collaboration Platform (THAGRI) ไปใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม 

THAGRI มีฐานเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากการเป็นผู้พัฒนา Agri-Map Online และ Agri-Map Mobile ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับการบูรณาการข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งเนคเทค สวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนา ให้คำปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลในเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูล และแพลตฟอร์ม THAGRI นี้จะทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกฝ่ายภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้

ด้าน ธปท. จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยให้คำปรึกษาและสนับสนุนเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะมีประโยชน์กับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินในการผลักดันแนวทางแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นองค์รวม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์กลับไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรในวงกว้าง ได้แก่
1) การใช้ข้อมูลในการศึกษา ออกแบบและผลักดันแนวทางการแก้หนี้เดิมที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนชำระหนี้ได้มากขึ้นและสามารถปลดหนี้ได้ในระยะยาว
2) การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการปล่อยหนี้ใหม่อย่างยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ และตามข้อมูลความเสี่ยงที่แท้จริงของครัวเรือน และ 3) การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกัน ความรู้ทางการเงิน และการผสานการแก้หนี้กับโครงการเพิ่มรายได้และศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร