เนคเทค สวทช. ต้อนรับคณะจากเครือเบทาโกร เยี่ยมชมงานวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร และปศุสัตว์

Facebook
Twitter
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 65 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ร่วมด้วยคณะนักวิจัย ได้ให้การต้อนรับคุณชาติชาย ลือกุลวัฒนะชัย ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เครือเบทาโกร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและทีมงาน จำนวน 20 ท่าน  ในโอกาสเดินทางมาเข้าพบ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานวิจัยพัฒนา และร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเป็นไปได้ในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมของเครือเบทาโกร ทั้งในด้านปศุสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร (ไข่ไก่, เนื้อหมู) รวมถึงการบริหารจัดการโรงงานให้มีประสิทธิภาพ

ในการนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ได้นำเสนอภาพรวมภารกิจงานวิจัยพัฒนาของเนคเทค สวทช. ภายใต้นโยบายการทำงานแบบมุ่งเป้าที่จะส่งมอบให้กับประเทศรวม 8 กลุ่ม ที่เรียกว่า Target Output Profile หรือ TOP ภายใต้เทคโนโลยีหลัก 8 ด้าน รวมถึง 2 เทคโนโลยีสำหรับอนาคต (Frontier Technology) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ เพื่อให้สามารถผลักดันเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และได้ขอบคุณที่เครือเบทาโกร ที่ได้มีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2565 (NECTEC-ACE 2022) ที่ผ่านมา

ต่อด้วยการนำเสนอ ผลงานวิจัยพัฒนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมของเครือเบทาโกร ใน 3 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ 

1. Smart Factory 
– แนะนำการให้บริการของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center : SMC)
– IDA Platform : แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม 
– Smart Warehouse : แพลตฟอร์มระบบระบุตำแหน่งภายในอาคารสำหรับโรงงานและคลังอัจฉริยะ
– Smart Quality (AI/ Object Detection ตรวจสอบคุณภาพ) 
2. Digital Technology for Agriculture
– Water Quality Monitoring and Aerator System 
– ระบบตรวจติดตามรูปแบบการเติบโตของแบคทีเรียหลายสภาวะในบ่อเลี้ยงกุ้ง
– เครื่องอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยง
– ระบบให้แสงเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงอาหารโภชนาการสูงสำหรับสัตว์น้ำ ในระบบปิดและกึ่งปิด (SUN-ZOOM for Eco-Plankton Culture Plant)
– ระบบยกยออัตโนมัติ ติดตั้งกล้องถ่ายภาพเพื่อใช้ตรวจสอบและติดตามการเลี้ยงกุ้งในบ่อเลี้ยง
3. Smart Sensor 
– ระบบตรวจวัดแก๊สแอมโมเนียไร้สายสำหรับระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรมอาหาร
– การตรวจวัดแบบไม่สัมผัส Multispectral 3 มิติ ใช้ในการตรวจโรคในปศุสัตว์เริ่มจากฟาร์มสุกร
– แก๊สเซนเซอร์พลังงานต่ำบนพื้นฐานเทคโนโลยีแอลทีซีซี
– แพลตฟอร์มจมูกแสง (Optical nose: O-nose) เพื่อใช้ตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย 

นำเสนอโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน โดยมีทีมนักวิจัยร่วมให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม

พร้อมด้วยการเยี่ยมชมตัวอย่างนิทรรศการผลงานวิจัยพัฒนา 

  • MuTherm FaceSense เพื่อประยุกต์ใช้ตรวจโรคในปศุสัตว์ โดย คุณอาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว นักวิจัย กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG)
  • ระบบเซนเซอร์เฝ้าระวังกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์ โดย ดร.คทา จารุวงศ์รังสี นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเซนเซอร์แสงไฟฟ้าเคมี (OEC)
  • UNAI Smart Warehouse โดย ดร.กมล เขมะรังษี ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG)
  • Aqua IoT นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อฟาร์มสัตว์น้ำ โดย ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT)

และคณะดังกล่าวได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เพื่อโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ณ อาคาร NECTEC Pilot Plant ที่ได้นำเสนอกระบวนการต่าง ๆ โดย นักวิจัย ทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ ได้แก่ 

  • โรงงานแห่งการเรียนรู้ดิจิทัลลีน โดย ดร.ธนกร ตันธนวัฒน์
  • ระบบชุดสาธิตการเชื่อมต่อและการทำงานเครื่องจักรด้วย IIoT โดย ดร.ธีรเชษฐ์ สูรพันธุ์
  • ระบบควบคุมอัตโนมัติและ IIoT ในงานอุตสาหกรรม โดย คุณชำนาญ ปัญญาใส
  • ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง โดย คุณสุรพันธ์ มองรังสี

เครือเบทาโกร มุ่งเป้าปรับองค์กรสู่การทรานสฟอร์มครั้งใหญ่ พร้อมรับมือความท้าทายและสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารคุณภาพสูงที่มีความหลากหลาย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งยกระดับสู่เป้าหมาย Smart Transformation อย่างเต็มรูปแบบ ผ่าน 6 module ประกอบด้วย Big Data, Smart CRM, Smart Farm, Smart Factory, Smart Operation และ Smart Quality เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า คู่ค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ เครือเบทาโกรได้ให้ความสนใจผลงานวิจัยพัฒนา ของเนคเทค สวทช. พร้อมให้โจทย์วิจัยในหลายๆ ด้าน อาทิ เทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Image Processing) เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมสัตว์, เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพไข่ไก่, เซนเซอร์วัดกลิ่นในกระบวนการอาหารสัตว์, การบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ