
งาน AUTOMATION EXPO 2025 ที่จัดโดย บริษัท จีเอ็มทีเอ็กซ์ จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจาก คุณสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ในปีนี้ สวทช. โดย เนคเทค และ SMC ได้ยกทัพนักวิจัยร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอมุมมองด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2568 ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิต ผ่านหลากหลายหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ ดังนี้
19 มีนาคม 2568
เปิดด้วยเวทีสัมมนา How Industry 5.0 Unites Automation and Experts for Next-Level Manufacturing โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญของการเสวนา เช่น แนวโน้มและความท้าทายของเทคโนโลยีปี 2025 การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมและทิศทางของระบบอัตโนมัติ การเดินทางสู่อุตสาหกรรม 5.0 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Industry 4.0 และ Industry 5.0 การบูรณาการหุ่นยนต์และมนุษย์ในสายการผลิต การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มความแม่นยำและความยืดหยุ่น พร้อมตัวอย่างการนำไปใช้จริง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ในยุค Industry 5.0 แนวทางป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์อัจฉริยะ และ Sustainable Manufacturing และ Green Technology: การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม
เสวนานี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่ คุณชัชชัย ผลมูล รองนายกสมาคมฝ่ายความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจ สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ Head of Enterprise Marketing & SME Business Management, AIS Business คุณอุดม ลิ่วลมไพศาล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม เนคเทค สวทช.
- ทำไมโรงงานต้องการทีม IT ก่อนเริ่ม Factory
วิทยากรโดย คุณอุ่นพงศ์ สุภัคชูกุล คุณศิโรรัตน์ กลางประพันธ์ คุณชญานิน ทองผาสุข และคุณวิชชุดา เอกพันธ์ ร่วมถอดประสบการณ์เกี่ยวกับ IT Transformation ในโรงงาน และทำไมการมีทีม IT เป็นสิ่งสำคัญก่อนการเริ่มต้นการผลิตในยุคดิจิทัลนี้ โดยพูดถึงหลายประเด็นที่สำคัญ อาทิ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ที่โรงงานต้องมี Cybersecurity และ Case Study: ตัวอย่างความสำเร็จจากโรงงานที่นำเทคโนโลยี IT มาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต
- การประเมินระดับความพร้อมอุตสาหกรรมด้วย Thailand i4.0 Index
วิทยากรโดย ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. และ
คุณวุฒิพงศ์ บุญนายวา ผู้อำนวยการฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มาแชร์มุมมองการใช้ Thailand i4.0 Index เป็นเครื่องมือในการประเมินระดับความพร้อมของโรงงานอุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ยุค Industry 4.0 โดยจะครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น องค์ประกอบและเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดความพร้อมของโรงงาน วิธีการวิเคราะห์ผลการประเมินจาก i4.0 Index โอกาสและความท้าทายที่อุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญในการเปลี่ยนผ่านสู่ Industry 4.0 และ Case Study จากโรงงานที่ใช้ i4.0 Index เป็นเครื่องมือในการวางแผนและพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้งแนวทางการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
-
AIoT, Optimize การทํางานด้วยการ Minimize ต้นทุนระบบ
วิทยากรโดย ดร.กิตติพงศ์ เอกไชย นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน ดร.ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัย ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน ดร.เอมอัชนา นิรันตสุขรัตน์ หัวหน้าทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ และดร.ธนกร ตันธนวัฒน์ นักวิจัยทีมระบบไซเบอร์-กายภาพมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตยุคใหม่ โดยการนำเทคโนโลยี AIoT และ IIoT มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถช่วยให้การ Optimize กระบวนการทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมาก รวมถึงการผลิตแบบลีนสามารถลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต การทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง AIoT และ IIoT จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละองค์กร
20 มีนาคม 2568
- Low-Cost Automation Through Collaboration and Cost-Effective Solutions
วิทยากรโดย ดร.พิเชษฐ์ บุญหนุน หัวหน้าทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน กล่าวถึงแนวทางการออกแบบระบบอัตโนมัติที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยการผสมผสานระหว่าง คน และ เทคโนโลยี เพื่อสร้างโซลูชันที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ เนื้อหาจะครอบคลุมถึง แนวทางการออกแบบระบบอัตโนมัติที่มีต้นทุนต่ำแต่ให้ผลลัพธ์สูง บทบาทของมนุษย์ในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และตัวอย่างการประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ระบบอัตโนมัติราคาประหยัดกำลังกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
- Protocol and Standard for Factory Cybersecurity OT & IT
วิทยากรโดย ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย ดร.กลิกา สุขสมบูรณ์ นักวิจัยทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และคุณติณณ์ธิษณ์ ใจกล้า ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ร่วมถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ในอุตสาหกรรม ในยุคที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และระบบเทคโนโลยีปฏิบัติการ (OT) ถูกเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและข้อมูลทางธุรกิจ หัวข้อนี้วิทยากรได้จะกล่าวถึง มาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับระบบอุตสาหกรรม แนวทางการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโรงงาน การจัดการความเสี่ยงและแนวทางป้องกันข้อมูลรั่วไหล มาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกัน แนวทางป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงงาน
21 มีนาคม 2568
- Automation, IoT and AI Integration Towards Industry 4.0
วิทยากรโดย คุณปิยวัฒน์ จอมสถาน วิศวกรทีมระบบไซเบอร์-กายภาพ(CPS) กล่าวถึงการผสานเทคโนโลยี Automation, IoT และ AI เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค Industry 4.0 โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืนมากขึ้น การใช้ระบบ Cyber-Physical System (CPS) ผ่านเทคโนโลยี IoT ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน และ AI ที่ช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและควบคุมกระบวนการผลิตอัตโนมัติ การบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ และแนะนำหลักสูตร SMC Academy เปิดฝึกอบรมที่ครอบคลุมเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับ Industry 4.0 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม หลักสูตรของ SMC Academy ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ เช่น: Automation & Robotics Internet of Things (IoT) OT Security
นอกจากนี้ สวทช. เนคเทค SMC และ EECi ร่วมออกบูธนำเสนอบริการให้ปรึกษา แคมเปญ สิทธิประโยชน์เพื่อการยกระดับโรงงาน หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการภาครัฐ รวมทั้งเยี่ยมชมบูธของสมาชิก (SMC Member) ที่มาร่วมแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี 4.0 สำหรับภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย บริษัท Thai Murata Electronics Trading ltd. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท เอ พลัส เซิร์ฟ จำกัด
งาน AUTOMATION EXPO 2025 ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าและยั่งยืนในยุคดิจิทัล