เจาะลึกทิศทาง AI ภาครัฐไทย ประเด็นสำคัญจากเวที eGovernment Forum 2025

Share to...

Facebook
X

AI ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพลิกโฉมการทำงานของภาครัฐไทยอย่างมีนัยสำคัญ การทำความเข้าใจถึงทิศทางนโยบายที่ชัดเจน การพัฒนาเครื่องมือที่ตอบโจทย์ และการเรียนรู้จาก use case ที่นำไปใช้งานได้จริงจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) และในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ได้นำเสนอภาพรวมตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI แนวนโยบายระดับชาติ ไปจนถึงตัวอย่างการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ ในหัวข้อ “AI Policy and Use Case for Public Sector” ภายในงาน “eGovernment Forum 2025 ครั้งที่ 13” วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ กรุงเทพฯ จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA)

ศักยภาพ AI ที่เปลี่ยนแปลงโลก และการวางรากฐานนโยบายของไทย

ดร.ชัย กล่าวถึงความรวดเร็วอย่างยิ่งของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญตั้งแต่การเกิดขึ้นของ Deep Learning ในปี 2006 และการมาถึงของ Large Language Models (LLM) รวมถึง Generative AI ในปี 2022 ที่รู้จักกันดีผ่าน ChatGPT และคาดการณ์ถึงแนวโน้มอนาคตของ AI ที่จะมุ่งสู่ Multimodal AI ซึ่งรองรับข้อมูลหลากหลายรูปแบบ และ Edge AI ที่เน้นการประมวลผลบนอุปกรณ์ปลายทาง เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ แผน AI แห่งชาติ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565
 

การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาครัฐนั้นมีประโยชน์มหาศาล ดร.ชัย ได้เสนอ 4 ขั้นตอนสำคัญสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 

(1) การพัฒนาบุคลากร (Personnl Development) ให้มีความรู้ความเข้าใจและเท่าทันเทคโนโลยี 
(2) การปรับกระบวนการและข้อมูลให้เป็นeดิจิทัล (Process and Data Digitization) 
(3) การพัฒนาบริการอัจฉริยะ (Smart Service Development) ทั้งภายในและภายนอกองค์กร 
(4) การก้าวไปสู่การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (Decision Intelligence)

การขับเคลื่อน AI ในไทย: การพัฒนาเครื่องมือและกรณีศึกษา

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนา AI ของประเทศไทย ดร.ชัย ชี้ว่ามีสองแนวทางหลัก แนวทางแรก คือ การซื้อหรือใช้บริการที่มีอยู่ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย การปรับแต่ง และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และอีกแนวทางคือการพัฒนาขึ้นเอง ซึ่ง เนคเทค สวทช. มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มพัฒนา OpenThaiGPT ตั้งแต่ปี 2023 และพัฒนาต่อเนื่องมาเป็น OpenThaiLLM ซึ่งเป็น Open Source และมีหลายขนาด ทำให้สามารถพัฒนาโมเดลที่เฉพาะเจาะจงกับองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานได้ นอกจากนี้ เนคเทคยังมีแพลตฟอร์ม AI for Thai ที่ให้บริการ AI API ต่าง ๆ แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
 
ความมุ่งมั่นในการพัฒนานี้ได้นำไปสู่กรณีศึกษาการใช้งาน AI จริงในภาครัฐไทยที่สร้างผลกระทบเชิงบวกหลายโครงการ ดร.ชัย ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น
 
  • การใช้ AI ช่วยถอดความการประชุมรัฐสภาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
  • ระบบ DocChat และ DocGen จากเทคโนโลยีจาก Pathumma LLM ที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถค้นหาข้อมูลจากเอกสารจำนวนมากและสร้างเอกสารใหม่ เช่น ร่าง TOR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Chatbot ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ให้บริการข้อมูลจากคู่มือประชาชนอย่างถูกต้องและเชื่อถือได้
  • Traffy Fondue ที่ใช้ AI วิเคราะห์เรื่องร้องเรียนของประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการวางแผนบริหารจัดการเมืองที่ดีขึ้น
  • โครงการ Thai School Lunch ที่ใช้ AI ช่วยออกแบบสำรับอาหารกลางวันนักเรียนให้มีคุณค่าทางโภชนาการและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน
  • TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ที่ช่วยชี้เป้าความยากจนและวางแผนการให้สวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างตรงจุด

ความท้าทายสู่อนาคต AI ไทย

ดร.ชัย กล่าวถึงผลการสำรวจล่าสุดโดย ETDA และ สวทช. พบว่ามีหน่วยงานในไทยประมาณ 17% ที่ได้ผนวก AI เข้าไปในกระบวนการทำงานแล้ว แต่กว่า 75% กำลังพิจารณาและมั่นใจว่าจะต้องใช้ AI ในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวและความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ศักยภาพอีกมากในการนำ AI ไปใช้ในภาคส่วนสำคัญของประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การเกษตร ที่ AI จะช่วยในการทำ Precision Farming และ Data Sharing และสาธารณสุข ที่ AI สามารถส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงรุก (Preventive Medicine) และการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home-based Healthcare) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป
เกี่ยวกับงาน eGovernment Forum 2025
eGovernment Forum 2025 ครั้งที่ 13 เป็นงานสัมมนาวิชาการและแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีภาครัฐชั้นนำ จัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (DUGA) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในประเทศไทย