เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) โดย นายปณินทร เปรมปรีดิ์ จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PTL) เป็นตัวแทนทีมวิจัยและพัฒนานำเสนอผลงาน AQUA GROW ระบบอัจฉริยะผ่านไอโอทีเพื่อเฝ้าระวังการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ บนเวที NSTDA INVESTORS’ DAY 2018 ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการ หรือ เอกชนที่มีความสนใจ นับเป็นการสร้างโอกาสต่อยอดสู่การใช้งานจริง
AQUA GROW ประกอบด้วย
- 1. ระบบควบคุมเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ (Automatic aerator control system)
- เป็นระบบแบบแยกส่วนซึ่งประกอบด้วย กล่องควบคุมหลักประจำบ่อ และกล่องควบคุมเครื่องตีน้ำ ทำงานร่วมกันผ่านการสื่อสารแบบไร้สาย
- กล่องควบคุมหลัก ทำหน้าที่เชื่อมต่อเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดค่าในบ่อ และกำหนดการทำงานให้กล่องควบคุมเครื่องตีน้ำ พร้อมทั้งบันทึก ส่งค่าการทำงานเข้าสู่อินเทอร์เน็ต และแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติ
- กล่องควบคุมเครื่องตีน้ำ ทำหน้าที่เปิด-ปิดเครื่องตีน้ำ และตรวจสอบการทำงานของเครื่องตีน้ำ
- ในแต่ละบ่อจะมีกล่องควบคุมกลัก 1 กล่อง ซึ่งสามารถควบคุมเครื่องตีน้ำได้สูงสุด 32 เครื่อง และมีกล่องควบคุมเครื่องตีน้ำตามจำนวนที่ต้องใช้ในการควบคุมเครื่องตีน้ำ โดยแต่ละกล่องควบคุมเครื่องตีน้ำได้สูงสุด 4ตัว
- ประโยชน์ของเทคโนโลยี
- ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายตลอด 24 ชั่วโมง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการลดต่ำของระดับออกซิเจนจนน้อยกว่าค่าที่เหมาะสม
- ควบคุมเครื่องตีน้ำตามค่าออกซิเจนละลาย โดยจะเพิ่มการทำงานของเครื่องตีน้ำเมื่อออกซิเจนลดต่ำ และลดการทำงานของเครื่องตีน้ำเมื่อออกซิเจนสูงเพียงพอ ช่วยประหยัดพลังงานที่ให้กับเครื่องตีน้ำ
- ตรวจวัดการทำงานของมอเตอร์ตลอดวัน ทำให้สามารถสลับการทำงานของมอเตอร์ได้อัตโนมัติ เมื่อมอเตอร์หยุดการทำงานจากกระแสไฟเกิน
- สามารถกำหนดรูปแบบและเวลาการเปิดเครื่องตีน้ำได้ เช่น การรวมตะกอนของเสียในบ่อโดยอัตโนมัติ การควบคุมการหมุนเวียนของน้ำในบ่อ เป็นต้น
- สามารถบันทึกข้อมูลการทำงานและค่าการตรวจวัด ทำให้การวิเคราะห์และปรับปรุงการเลี้ยงในรอบ (Crop) ถัดๆ ไปได้สะดวกยิ่งขึ้น
- มีระบบแจ้งเตือนทันทีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติผ่านข้อความสั้น (sms) ทางโทรศัพท์ และไฟฉุกเฉินหน้าบ่อ เช่น ค่าออกซิเจนละลายต่ำ เครื่องตีน้ำตัดการทำงานจากกระแสเกินสถานภาพ (Stage of art)
- ติดตั้งใช้งานภาคสนามแล้ว
- 2. เคมีชลเนตร (ChemEYE) : เครื่องอ่านปริมาณสารเคมีในน้ำแบบอัจฉริยะ (Smart Chemical Reader in Water)
เคมีชลเนตร หรือเคมอาย เป็นเครื่องอ่านสีตามความเข้มข้นของสารเคมีในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งจะอ่านค่าสีของน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของชุดทดสอบกับสารเคมีในน้ำจากบ่อเพาะเลี้ยง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการอ่านค่าสีของสารเคมีในน้ำด้วยตาเปล่า ที่ส่งผลให้เกิดการแปรผลความเข้มข้นที่ผิดพลาดจากการเทียบเคียงสีกับแผ่นอ้างอิง โดยระบบของเครื่องอ่านปริมาณสารเคมีในน้ำแบบอัจฉริยะนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนรับภาพสีจากปฏิกิริยา ส่วนโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลเป็นความเข้มข้น และส่วนสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายผ่านระบบ Wi-Fi ซึ่งจะช่วยให้การบันทึกข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลทำได้ง่าย ส่งผ่านข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาได้ทันท่วงที และสามารถเก็บสถิติคุณภาพน้ำได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ
- ประโยชน์ของเทคโนโลยี
- สามารถตรวจสอบคุณภาพของสารเคมีในน้ำได้แม่นยำ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สายตา
- เป็นอุปกรณ์ที่ออกมาโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมแสงสว่างและป้องกันการรบกวนจากแสงภายนอก ขณะทำการอ่านค่าสี
- สามารถตรวจสอบสารเคมีได้หลากหลายชนิด อาทิเช่น ไนไตรท์ กรด-ด่าง แอมโมเนียม คลอรีน และความกระด้าง เป็นต้น
- 3. Minimal Lab : ระบบติดตามการเจริญเติบโตของแบคทีเรียแบบต่อเนื่อง (Continuous Bacterial Growth curve Monitoring system)
ระบบติดตามการเจริญเติบโตของแบคทีเรียจากค่าความขุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปของของสารตัวอย่าง สามารถทำการบ่มเพาะแบคทีเรีย วัดค่าวัดค่าการดูดกลืนแสง ค่าการส่องผ่าน และส่งค่าการทดลองแบบออนไลน์ได้
- จุดเด่นของเทคโนโลยี
- วัดค่าการดูดกลืนแสง (Absorbance) และ ค่าการส่องผ่าน Transmittance (%T) ที่ความยาวคลื่นแสง 600 นาโนเมตร ของสารละลายตัวอย่างในหลอดทดลองตัวอย่างได้สูงสุดพร้อมกัน 24 หลอด
- ตั้งค่าการบันทึกผลการทดลอง (Interval Time) ได้ต่ำสุดเริ่มต้นที่ 5 นาที
- บันทึกข้อมูลการทดลองได้ไม่น้อยกว่า 500 ชั่วโมง ด้วยการบันทึกข้อมูลการทดลองทุกๆ 5 นาที
- สามารถส่งข้อมูลการทดลองทางระบบออนไลน์ได้
- แสดงค่าผลการทดลองเป็นแบบค่าตัวเลขและกราฟ
บทความที่เกี่ยวข้อง
วันที่เผยแพร่ 12 กรกฏาคม 2561 11:47