เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าประเทศไทยของเรามีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำในการผลิตและส่งออกสินค้าทางด้านเกษตรกรรมและอาหารเป็นอันดับต้นของโลก เกษตรกรยุค 1.0 เป็นยุคของการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์โดยการอาศัยภูมิปัญญาที่มีมาแต่ในอดีต ผลิตและขายพืชไร่ พืชสวน ส่วนมากเป็นพืชเชิงเดี่ยว เกษตรกรยุค 2.0 เป็นยุคที่เป็นการทำเกษตรกรรมที่มีผลผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น เน้นที่ปริมาณการผลิต ใช้แรงงานคนหรือเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน เกษตรกรยุค 3.0 เป็นยุคของการทำเกษตรกรรมที่เป็นอุตสาหกรรม เน้นปริมาณ ใช้กำลังคนหรือเครื่องจักรในการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก มีการแปรรูปผลผลิต เกษตรกรยุค 4.0 จะเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรด้วยการนำองค์ความรู้มาผสมผสานกับการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าและผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับผลผลิตของตนเอง
Thailand 4.0 จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
บทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้นำเสนอระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) หรือที่เว็บไซต์ https://agri-map-online.moac.go.th/login เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงและมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ทั้งนี้นักบริหารในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) โดยส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตามความเหมาะสมทั้งทางด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และอื่นๆ ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร และให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ที่ทันสมัย ถูกต้อง สามารถใช้งานได้สะดวก รวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลให้เป็นระบบแผนที่เกษตรที่มีคุณภาพ ทันสมัย ถูกต้อง สะดวกและรวดเร็ว Agri-Map Online จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเป็น SMART OFFICER และ SMART FARMER ได้อย่างแน่นอน
แต่ระบบดังกล่าวก็ยังเป็นการใช้งานในระดับเจ้าหน้าที่ หรือเกษตรกรที่มีคอมพิวเตอร์และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น ล่าสุด เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบดังกล่าวในมาอยู่ในรูปแบบ Mobile Application เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานในมือถือหรือ Smart Phone ได้แล้ว โดยในเบื้องต้นจะเริ่มให้บริการในระบบ Android และจะขยายไปยังระบบ IOSในอนาคต ซึ่งผู้ใช้แอปฯดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ การเปิดใช้งานในพื้นที่ที่ตนเองต้องการจะทราบคุณลักษณะของดิน การเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมและได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยการอาศัยข้อมูลทางด้านราคา แหล่งเพาะปลูก โรงงานหรือแหล่งรับซื้อ ราคาตลาด ฯลฯ เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้เกษตรกรไทย ได้ก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้แล้ว เพียงค้นหาคำว่า Agri-Map ใน Google Paly Store …!
บทความที่เกี่ยวข้อง
วันที่เผยแพร่ 31 พฤษภาคม 2560 11:58