วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน เดินหน้าโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) อย่างเต็มรูปแบบ มุ่งหวังให้โครงการ Agri-Map สามารถใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการบูรณาการข้อมูลเพื่อการเกษตรของประเทศไทยอย่างครบวงจร เชื่อมั่นว่า หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผน เกษตรกรไทยจะสามารถยกระดับขีดความสามารถเป็น Smart Farmer ได้ ภาครัฐจะมีข้อมูลด้านการเกษตรที่ช่วยในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการดำเนินงานตามฐานข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องแม่นยำ
ด้วยความสำคัญของภาคเกษตรกรรมที่มีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ ซี่งประกอบอาชีพการเกษตร ทั้งพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่สำคัญ ประกอบกับเกษตรกรรายย่อยมักประสบปัญหารายได้ต่ำ เนื่องจากความผันผวนทางการตลาด และการขาดการวางแผนจัดการการผลิตที่ดี ที่สำคัญคือ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจว่าจะเพาะปลูกพืชชนิดใด เมื่อไร และอย่างไร ในแปลงของตนเอง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ขาดข้อมูลภาคสนามที่ถูกต้องสมบูรณ์ ทำให้การวางแผนในระดับมหภาคไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการจัดทำระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร ภายใต้ขื่อโครงการ Agri-Map เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในขณะเดียวกันกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. มีเทคโนโลยีที่พร้อมจะไปสนับสนุนโครงการ Agri-Map อยู่แล้ว โดยมีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร ที่ชื่อว่า What2Grow ซึ่งเป็นระบบบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ข้อมูลแผนที่ ข้อมูลการผลิต ผลผลิต สภาพพื้นดิน ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูก ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ด้านราคา แหล่งรับซื้อ และเครื่องมือสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสร้างโมเดลแนะนำพืชทดแทนให้เกษตรกร สามารถวิเคราะห์และพัฒนาเป็นแบบจำลองในการโซนนิ่ง ภาคการเกษตรที่เหมาะสม สามารถบริหาร จัดการทรัพยากรธรรมชาติและบริหารผลผลิตได้ดีขึ้นอันเป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น
การลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแผนที่การเกษตร (Agri-Map) ในระบบออนไลน์ และโมบายล์เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้เพื่อให้ข้อมูล และวางแผน และจัดทำนโยบายด้านการเกษตร ร่วมพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาและการใช้แผนที่การเกษตร (Agri-Map) และร่วมให้บริการข้อมูลแผนที่การเกษตรแก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้สนใจทั่วไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
วันที่เผยแพร่ 21 กรกฏาคม 2560 14:36