“ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”: อยู่รอดแม้จุดยืนมนุษย์สั่นคลอน ในโลกดิจิทัลที่ไม่ย้อนกลับหลัง

Facebook
Twitter
cover
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข , กรรวี แก้วมูล

โลกศตวรรษที่ 21 ถูกขนานนามว่า “โลกดิจิทัล” ความสะดวกสบายจากการโลดแล่นบนฟีเจอร์ทันสมัยในทุก ๆ กิจกรรมของชีวิต ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นวัตถุดิบหนึ่งของการพัฒนาเสมอไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ อุตสาหกรรม การแพทย์ การศึกษา เป็นต้น ด้วยบทบาทของเทคโนโลยีกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในวันนี้คำถามที่ว่า “อะไร…ที่ไม่มีขายในร้านสะดวกซื้อ” ยังตอบง่ายกว่า “อะไร…ที่ไม่มีเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลัง”

บทบาทของเทคโนโลยีก่อนเคยเป็นแขน ขาให้กับมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและทรงพลัง ในวันนี้ความฉลาดของเทคโนโลยีที่มนุษย์เป็นผู้คิด ผู้สร้างกลับทำให้เรากลัว . . . กลัวการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ข่าวคราวของธุรกิจหลากวงการที่ต้องปิดตัวลงจากความสามารถของเทคโนโลยีและนวัตกรรมชวนให้หวาดระแวงว่าวันนั้นของเราจะมาถึงเมื่อไหร่ ? วันที่บทบาท อาชีพ และจุดยืนของเราสั่นคลอนพร้อมถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แล้วเราควรรับมืออย่างไร ? เมื่อโลกดิจิทัลขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว มนุษย์ไม่มีตัวเลือกมากนักนอกจาก “ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง” เพื่อความอยู่รอดและก้าวทันโลกดิจิทัลด้วยการเรียนรู้ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”

-

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill)

ไม่มีมนุษย์คนไหนมีทักษะใด ๆ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่เป็นการฝึกฝนผ่านระยะเวลาเพื่อให้เกิดความชำนาญ ในโลกดิจิทัลทักษะที่มนุษย์มีสามารถเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีได้เช่นกันและใช้เวลาในการฝึกฝนน้อยกว่า ถึงขนาดที่มือหนึ่งของวงการหมากล้อมระดับโลก ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับ “AlphaGo” เซียนโกะ AI ในปี 2016 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ จะเข้าแทนที่มนุษย์ในงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ (Routine) มิหนำซ้ำยังคิดแทนมนุษย์ได้อีกด้วย

q

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ รูปแบบใหม่ของการศึกษาที่ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางเพื่อการสอบ แต่เป็นการเรียนรู้ทักษะเพื่อความอยู่รอดในยุคที่เกรดเฉลี่ยหรือเกียรตินิยมไม่ได้รับประกันอนาคตอันสดใสอีกต่อไป ความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 หากปราศจากทักษะ โดย World Economic Forum (WEF) สรุปทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

q

โดยทักษะในกลุ่มที่ใช้เผชิญกับปัญหาความท้าทาย (Competencies) หรือที่เรียกกันว่า ‘4Cs’ นั้น เป็นทักษะที่มนุษย์ยังเป็นต่อ ยังไม่มีคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีใด ๆ มีทักษะดังกล่าวเหมือนมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking / Problem – Solving)
  • ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creativity)
  • ทักษะการสื่อสาร (Communication)
  • ทักษะการทำงานเป็นทีม (Collaboration)

ทักษะ 4Cs อาจเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันดีแต่ไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ด้วยระบบการศึกษาในอดีตมักให้ความสำคัญกับการผลิต ‘นักท่องจำ’ มากกว่าการฝึกฝนให้นักเรียนได้คิดและลงมือทำจริง ในโลกที่แม้ไร้ตำรา ปราศจากห้องเรียน ก็มีหลากหลายช่องทางให้เราเติมอาหารสมองได้ ดังนั้นผู้ที่มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เท่านั้นที่จะสามารถกลั่นกรองและย่อยข้อมูลที่โลดแล่นในโลกดิจิทัลเพื่อพัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอย่างไม่สิ้นสุด

ปัจจุบันประเทศไทยพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง ติดอาวุธในโลกดิจิทัลให้กับเยาวชนไทย โดยปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยการเรียนรู้ที่เป็นสากล สนุกสนาน บูรณาการได้ง่าย และพัฒนากระบวนการคิดได้อย่างครบวงจรผ่านทักษะ Coding ฝึกคิดเชิงคำนวณช่วยเด็กไทยอยู่รอดใน ‘ดิจิทัลสึนามิ’ ซึ่งจะสามารถติดตามอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ “ทักษะ Coding ฝึกคิดเชิงคำนวณ” ได้ในสัปดาห์หน้า…

ข้อมูลอ้างอิง
(1) Maytwin P. (2561). 21st-Century Skill : ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21.
สืบค้นจาก https://medium.com/base-the-business-playhouse/21st-century-skill-ทักษะแห่งศตวรรษที่-21-898985d417ce
(2) ปิยพร อรุณเกรียงไกร. (2560). พลิกล็อก Google คอนเฟิร์ม AlphaGo คือ AI ปริศนาในโลกออนไลน์ที่ชนะเซียนหมากล้อมระดับโลก 60 เกมรวด!.
สืบค้นจาก https://themomentum.co/successful-innovation-alphago-2017/

บทความที่เกี่ยวข้อง