
วันที่ 17 เมษายน 2568 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อาคารวิจัยโยธี ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือสำหรับตรวจสอบ และรับรองพื้นที่ตามระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Regulation on Deforestation-free Products)” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโอกาสนี้ได้นำแพลตฟอร์มให้บริการตรวจสอบสินค้าที่ปราศจากการทำลายป่า (Deforestation-free Analysis Service Platform) มาแสดงการใช้งานอีกด้วย
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สคทช. กล่าวว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนด้านการวิจัย สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมการแบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ระหว่างหน่วยงานและบุคลากรทั้งสองฝ่าย และร่วมกันเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับตรวจสอบและรับรองพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นแหล่งผลิต ตามระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Regulation on Deforestation-free Products) เพื่อตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิตและมีข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ก่อให้เกิดการทำลายป่า และเครื่องมือสำหรับรองรับกระบวนการตรวจสอบเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศภายใต้ข้อกำหนดใหม่ของสหภาพยุโรป ซึ่งเน้นการป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้ในห่วงโซ่อุปทาน ตามกฎระเบียบระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองหน่วยงาน ในการนำเอาความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรที่มีอยู่มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือและสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) สำหรับการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปราศจากการทำลายป่า ตามกฎระเบียบ EUDR
บทบาทภายใต้ MOU นี้ ของ สวทช. โดย เนคเทค ได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) ของที่ดินที่ใช้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ภายใต้ข้อกำหนดตรวจสอบย้อนกลับ (EUDR traceability requirement) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จำเป็นต้องแสดงว่าสถานที่นั้นปลอดการทำลายป่า โดยได้พัฒนา แพลตฟอร์มให้บริการตรวจสอบสินค้าที่ปราศจากการทำลายป่า (Deforestation-free Analysis Service Platform) เพื่อตอบสนองต่อกฎระเบียบ EUDR และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ เอ็มเทค สวทช. ได้มาช่วยขับเคลื่อนการขยายผลแพลตฟอร์มสู่การใช้งานจริงโดยผู้ประกอบการในเครือข่าย ซึ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ จะไม่เกิดขึ้น และไม่สัมฤทธิ์ผล หากขาดพันธมิตรหลัก คือ สคทช.
ข้อมูลเพิ่มเติม
EUDR: EU Regulation on Deforestation-free products เป็นกฎระเบียบของสหภาพยุโรป มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่าเข้าสู่สหภาพยุโรป กฎระเบียบนี้ครอบคลุมสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ วัว น้ำมัน ปาล์ม ถั่วเหลือง ไม้ กาแฟ ยางพาราโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าไม่ได้มาจากพื้นที่ที่ถูกตัดไม้ทำลายป่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรู้และให้ข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์ของแผนที่ดินที่ใช้ผลิตสินค้าทุกคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการบันทึกข้อมูลพิกัด GPS ของพื้นที่การผลิตได้อย่างง่ายดายเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของ EUDR ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังสหภาพยุโรปต้องแสดงหลักฐานพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ดินที่ใช้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์และรายงานการตรวจสอบสถานะสินค้าทั้งนี้ในการตรวจสอบพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก ได้พบปัญหาดังนี้
- ข้อมูลมีความซับซ้อนการวิเคราะห์พื้นที่ต้องใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลต้นไม้ ข้อมูลพื้นที่อนุญาตและข้อมูลการเพาะปลูก
- การแปลงและการประมวลผลข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มีรูปแบบโครงสร้างและระบบพิกัดที่แตกต่างกันทำให้ต้องมีขั้นตอนการปรับแต่งข้อมูลให้สอดคล้องกัน
- การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผู้ใช้งานต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อย่างสะดวกและสามารถตรวจสอบพื้นที่ของตนเองได้โดยง่ายมีการรับรองความถูกต้องที่สามารถนำมาใช้ประกอบการส่งต่อข้อมูลได้
- รองรับการตรวจสอบจำนวนมากองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการตรวจสอบพื้นที่หลายแปลงพร้อมกันจำเป็นต้องใช้ระบบที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รองรับ Geolocation ได้ตามมาตรฐานที่ EUDR กำหนด (GeoJSON spec 1.4) พร้อม export ไปใช้ในระบบ EU-Information System
จากปัญหาดังกล่าว สวทช. โดย เนคเทค จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Deforestation-free analysis ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ EUDR