2 ผลงานวิจัย เนคเทค สวทช. ร่วมโชว์ในสัมมนา สพร. หวังสร้างความร่วมมือขยายผลประยุกต์ใช้สนับสนุนด้านการแพทย์

Facebook
Twitter

ผลงานวิจัย เนคเทค สวทช. ร่วมโชว์ในงานสัมมนาสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หวังสร้างความร่วมมือ ขยายผลประยุกต์ใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 เนคเทค สวทช. โดยทีมวิจัยมอเตอร์และการแปลงผันกำลังงาน (MAP) คุณปกาศิต สมศิริ คุณประพนธ์ จิตรกรียาน ดร.นันทวัฒน์ ฐิติชัยวรกรณ์ ร่วมด้วยทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT) ดร.น้ำฝน เข็มทองเจริญ และทีมวิจัย จากศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) คุณสันติ รัตนวารินทร์ คุณวิศรุต ศรีพุ่มไข่ คุณภัทรลักษณ์ ปัถมัง ได้นำผลงานวิจัยทางด้านการแพทย์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ รถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบ Pushrim Activated, ระบบคัดกรองภาวะโลหิตจาง และระบบตรวจภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกแบบอัตโนมัติ เข้าร่วมจัดแสดงภายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพสมาชิกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแปลผลและวิเคราะห์ข้อมูลในโปรแกรมคุณภาพด้านความปลอดภัย” ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพ โดยภายในงานมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 300 คน

รถวีลแชร์ไฟฟ้าแบบ Pushrim Activated (Pushrim-Activated Power-Assisted Wheelchair) โดยทีมวิจัย MAP
เป็นรถวีลแชร์ไฟฟ้าที่ใช้การควบคุมด้วยการใช้มือเข็นที่วงแหวนบังคับล้อทั้งสองข้างทางด้านซ้าย และด้านขวา (เรียกว่า Pushrim หรือ Handrim) สำหรับการเคลื่อนที่ โดยติดตั้งระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาออกแรงเสริม ช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกเบาแรงจากการใช้กำลังแขนบังคับล้อวีลแชร์ให้เคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นทางลาด ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยระบบมอเตอร์ไฟฟ้านี้ยังสามารถออกแบบนำไปประยุกต์ใช้ติดตั้งกับเตียงรถเข็นผู้ป่วย หรือรถเข็นอุปกรณ์การแพทย์ที่มีน้ำหนักมาก เพื่อช่วยผ่อนแรงให้กับเจ้าหน้าที่ ลดภาวะเจ็บปวดกล้ามเนื้อในการปฏิบัติงานได้
> รายละเอียดเพิ่มเติม 

ระบบคัดกรองภาวะโลหิตจาง (A point-of-care anemia screening system) โดย ทีมวิจัย PHT และ TMEC
เป็นระบบตรวจวัด Hemoglobin และ Hematocrit ในอุปกรณ์เดียวกัน โดยเก็บเลือดจากปลายนิ้วเพียงครั้งเดียว ซึ่งชุดอุปกรณ์ออกแบบให้เตรียมตัวอย่างได้ด้วยความเร็วในการปั่นตกตะกอนต่ำ มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง ลดการสูญเสียตัวอย่างจากการแตกหักของอุปกรณ์ พร้อมลดขนาดของการตรวจทั้งระบบให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สะดวกต่อการพกพานำไปใช้ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางในกลุ่มประชากร นอกจากนี้ระบบยังสามารถบันทึกและเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เชื่อมต่อระบบ IoT เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลเชิงประชากรได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติม และทั้งระบบนี้ผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีภายในประเทศ เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าสูงของประเทศ

> รายละเอียดเพิ่มเติม 

ระบบตรวจภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกแบบอัตโนมัติ (An automatic system for neonatal jaundice diagnosis) โดย ทีมวิจัย PHT และ TMEC
เป็นระบบตรวจวัดภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ โดยระบบนี้จะใช้ตัวอย่างเลือดน้อยกว่า 10 ไมโครลิตร ช่วยลดความเจ็บปวดของเด็กทารกจากการเก็บตัวอย่าง พร้อมกับได้รวมส่วนปั่นเตรียม และส่วนอ่านค่าตัวอย่างไว้ในเครื่องเดียวกัน ทำให้สามารถตรวจวัดค่าความเข้มข้นบิลลิรูบินได้ในขั้นตอนเดียว และยังได้ออกแบบให้เตรียมปั่นตะกอนตัวอย่างเลือดโดยใช้ความเร็วรอบต่ำ ช่วยลดการสูญเสียตัวอย่างจากการแตกหักของหลอดแก้วในวิธีตรวจปกติ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจวัดบนผิวอุปกรณ์ที่มีแนวระนาบ เพิ่มความแม่นยำในการตรวจวัดทางแสง นอกจากนี้ระบบยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สะดวกต่อการนำไปใช้ในหอผู้ป่วย ซึ่งสามารถบันทึกและเด็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เชื่อมต่อระบบ IoT เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลเชิงประชากรได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าว ยังมีผลงานเครื่องเอกซเรย์ฟัน และเครื่องเอกซเรย์ จากบริษัท พิซาเมด จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศไทย ที่ไ้ด้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผลิต และจำหน่ายเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ (DentiiScan) จาก A-MED สวทช. และได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางปริมาณรังสี จากสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ร่วมจัดแสดงอีกด้วย