เนคเทค สวทช. ต้อนรับคณะบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Facebook
Twitter

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เยี่ยมชมเนคเทครับฟังการบรรยายในด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 256565 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีทีมนักวิจัยร่วมต้อนรับและนำเสนองานวิจัย ดังนี้

“Face Verification” ระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า
โดย คุณศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัย ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ

เทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาพใบหน้า ด้วยการเก็บข้อมูลจากการบันทึกภาพถ่ายใบหน้า นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพจากขั้นตอนการตรวจจับใบหน้า พัฒนาขึ้นเป็นระบบบริการยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า (Face Verification) สำหรับการระบุตัวตนร่วมกับการเชื่อมโยงข้อมูลสแกนม่านตาของสภากาชาดไทย จากระบบ iRespond เพื่อรับวัคซีนโควิด-19 ที่จัดสรรโดยสภากาชาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบบดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นเพื่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัยการสู้รบ แรงงานต่างด้าว โดยใช้วิธีกำหนดรหัสประจำตัวด้วยหมายเลข 13 หลักเป็นการชั่วคราวให้กับผู้รับวัคซีนฯ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการลงบันทึกข้อมูลบุคคล และประวัติการรับวัคซีน เมื่อแรงงานมีการย้ายที่ทำงานหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ก็สามารถสืบค้นประวัติการรับวัคซีนได้ง่าย ซึ่งได้จัดเก็บข้อมูลลงในระบบแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 8,041 คน ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ แรงงานด้อยสิทธิ ในกรุงเทพฯ ณ สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย , กลุ่มชาติพันธุ์ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน จังหวัดราชบุรี , ศูนย์พักพิงบ้านใหม่ในสอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน , ศูนย์พักพิงแม่หละ จังหวัดตาก , ตลาดอาหารทะเลสด จังหวัดสมุทรสาคร

“INTERVAC” ระบบสร้างวัคซีนพาสปอร์ต 
โดย ดร.สุนทร ศิระไพศาล นักวิจัย ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ

ฐานข้อมูลเอกสารโครงการรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อการเดินทางระหว่างประเทศ ที่พัฒนาขึ้นโดย กรมควบคุมโรค ซึ่งในระยะแรกใช้กับวัคซีน COVID-19 เท่านั้น สำหรับโครงการฯ นี้ ได้ต่อยอดระบบเพื่อมาใช้สำหรับการเดินทางไปยังประกอบพิธีฮัจย์ โดยออกใบรับรองการฉีดวีคซีนทั้งสิ้น 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โรคไข้กาฬหลังแอ่น และโรคไข้หวัดใหญ่” ระบบ INTERVAC พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำการบันทึกข้อมูลและประชาชนที่เข้ารับบริการ ซึ่งเดิมการออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะจัดทำในรูปแบบ “สมุดเล่มเหลือง” ที่เขียนด้วยลายมือ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาการทำงานมากขึ้น และไม่สามารถรองรับปริมาณและความต้องการของประชาชนได้ ระบบได้เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบหมอพร้อมแบบอัตโนมัติเพื่อช่วยลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลการได้รับวัคซีนระชาชนสามารถรับสมุดเล่มเหลืองได้ภายใน 1 วัน ช่วยลดระยะเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ลดลงเฉลี่ยไม่เกิน 5 นาที ต่อ ผู้รับบริการเท่านั้น ระบบ INTERVAC ประกอบไป 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนบันทึกข้อมูล: สำหรับเจ้าหน้าที่ทำการคีย์ข้อมูลข้อมูลประชาชน ข้อมูลการฉีดวัคซีน และข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง , ส่วนของการขอใบรับรอง: มีฟังก์ชันที่จะพิมพ์ข้อมูลแใบรับรองลงสมุดเล่มเหลืองได้ทันที , ส่วนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์: เป็นการออกใบรับรองในรูปแบบ QR CODE สามารถตรวจสอบได้โดยใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า Digital signature ที่สามารถรับรองความถูกต้องของข้อมูล ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เคยถูกแก้ไข และออกโดยกรมควบคุมโรค

ในช่วงท้ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและบุคลากรสำนักงานฯ นำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับพัฒนาองค์ความรู้ ถ่ายทอดและประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์