- Coding at School Powered by KidBright พาผู้ชนะจากเวทีการประกวด YCCK ออกเดินทางเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างประสบการณ์ให้เยาวชน เปิดมุมมองการสร้างสรรค์ที่สิงคโปร์
“จากจินตนาการสู่ความเป็นจริง” เป็นข้อความที่ใช้สื่อสารของทีมงานนักวิจัยและผู้ดำเนินโครงการ ที่ตั้งใจอยากให้อุปกรณ์เล็กๆ ที่พัฒนาจากห้องวิจัยของเนคเทค-สวทช. สามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่น้องๆ ให้เกิดการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องมือ ช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กให้เกิดการเรียนรู้จากอุปกรณ์ ที่เรียกว่า “KidBright” บอร์ดสมองกลฝังตัวอุปกรณ์เล็กๆ ที่พัฒนาจากห้องวิจัยของเนคเทค-สวทช. สามารถนำไปใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
อุปกรณ์ชุดนี้ผ่านการทดสอบการเป็นเครื่องมือเพื่อให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้และฝึกฝนการเขียน Code เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถทำงานตามคำสั่ง ได้อย่างหลากหลาย และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ให้เกิดการจัดกิจกรรมการนำ KidBright ไปช่วยเสริมการเรียนรู้ในกระบวนการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อว่า โครงการ Coding at School Powered by KidBright กิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการนำ KidBright ไปช่วยเสริมการเรียนรู้ในกระบวนการเรียนการสอน
นับแต่นั้นบอร์ด KidBright จำนวน 2 แสนบอร์ด พร้อมคู่มือการเรียนการสอน ได้นำส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 1,000 โรงเรียน พร้อมกับการเปิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ระหว่าง นักเรียน ครู และเหล่านักพัฒนาที่เว็บไซต์ www.kid-bright.org โดยทุกโรงเรียนได้ส่งโครงงานเข้าร่วมแข่งขันอย่างน้อยโรงเรียนละ 3 โครงงาน โดยทีมงานในโครงการฯ ได้จัดให้มีการอบรมให้กับตัวแทน ศูนย์ประสานงานแต่ละภูมิภาค และมีการเดินสายอบรมไปตามภูมิภาคต่างๆ เป็นการส่งต่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้บุคลากรที่ได้รับการอบรมสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้งานบอร์ด และการเขียน Code โดยสามารถให้คำแนะนำแก่ครูที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปสอนเด็กให้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งเข้าร่วมในเวทีการแข่งขัน เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศ ไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์
จากกิจกรรมในโครงการ Coding at School Powered by KidBright มีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกทั่วประเทศทั้งหมด 29 โครงงาน และได้ประกาศผลผู้ชนะเลิศในเวทีโครงงานสิ่งประดิษฐ์ด้วยบอร์ด KidBright: Youth’s Coding Competition (YCCK2018) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ผลปรากฎว่า ด.ช. ธีรภพ ปุรณกรณ์, นายกะวีวัฒน์ แก่นยางหวาย, ด.ช.รัฐกร จวงจันทร์ นักเรียนจากโรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ได้รับรางวัลที่1 จากผลงานอุปกรณ์ให้อาหารปลาดุกและทำความทำความสะอาดบ่อแบบอัตโนมัติ นายภาคิน วิเศษเงินทวี, ด.ช. เดชา พิมลมณีกุล , ด.ช. ชวิน วิเศษยิ่งไพศาล จากโรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้รับรางวัลที่ 2 จากผลงาน กรงเลี้ยงชะมดอัตโนมัติ โดยทั้งสองทีม ได้รับรางวัลเป็นเงินสดพร้อมทริปเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์
เปิดมุมมองการ Coding ที่ First Code Acadamy
การเดินทางเพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ ในต่างประเทศ ของกลุ่มเด็กๆ พร้อมอาจารย์ ของทั้งสองโรงเรียน เริ่มต้นขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2562 เป็นครั้งแรกของเด็กๆ ที่จะได้รับประสบการณ์จากการเดินทาง เข้าศึกษาวิธีการเขียน Code กับ First Code Academy ประเทศสิงคโปร์
First Code Academy มีเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งในประเทศ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นสถาบันที่ช่วยส่งเสริมและเพิ่มทักษะการเขียน Code ให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป โดยเปิดคอร์สการเรียนให้ผู้สนใจหัดเขียน Code ในห้องเรียนออนไลน์ มีการเรียนการสอนเฉพาะกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มๆ คือ First Code Junior (Age 4-5) First Code Tinker (Age 6-8) First Code Explorer (Age 9-11) First Code Creator (Age 12+) First Code Entrepreneur (Age 15+) ซึ่งเด็กๆ และอาจารย์ รวมไปถึงผู้สอน สามารถเรียนรู้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นการเปิดมุมมองการเรียนรู้ของโลกการศึกษาในยุคดิจิทัล และเปิดมุมมองการเรียนรู้ให้แก่ อาจารย์และเด็กๆ ได้เขียน code รูปแบบใหม่จากการพัฒนาของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) โดยอาจารย์เจมส์ (นายเรวัตร วงศ์วุฒิ โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง) ที่ร่วมเดินทางและร่วมศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ในครั้งนี้ กล่าวว่า “เป็นการเขียน Code ที่แปลกใหม่ สามารถใส่ภาพและเสียงได้”
การได้เข้าไปเรียนรู้การเขียน Code จากสถาบันในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ ทีมงานจากประเทศไทยได้แนะนำ KidBright ให้สิงคโปร์ ได้รู้จักอีกด้วย
ตะลุย Singapore Science Centre
ต่อจากนั้น เด็กๆ และอาจารย์ พร้อมทีมงาน ได้เดินทางไป Singapore Science Centre หรือศูนย์วิทยาศาสตร์สิงค์โปร์ เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์โดยนำแนวคิดเชิงกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย ภาพถ่ายเชิงเทคนิค การนำเทคนิคการการจัดแสดงผลงานมาใช้ในการสื่อสารเพื่อให้เหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย
ศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ Singapore Science Centre จัดแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ และเพิ่มเติมกระบวนการความคิดอย่างมีระบบให้เด็กๆ สัมผัส และทดสอบ อธิบายปรากฎการณ์ในธรรมชาติ หาคำตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งการจัดรูปแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสของจริงนับเป็นสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำเนื้อหาเชิงกายภาพของสิ่งมีชีวิตมานำเสนอให้เด็กๆ สามารถสัมผัส ได้ทดลอง และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่จัดแสดงในศูนย์ฯ ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เป็นการใช้สื่อช่วยถ่ายทอดเนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ มีการจัดแสดงอย่างมีระบบ ทำให้เด็กๆ ที่เข้าชมงานได้รับความรู้ พร้อมความบันเทิงควบคู่กันไป
จบทริปการเดินทางในครั้งนี้ น้องๆ สนุกสนานกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และได้ประสบการณ์ในการเดินทางพบเห็นสิ่งใหม่ๆ จะช่วยเปิดมุมแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับเด็กๆ และนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ ต่อไป
ทริปจากรางวัลการแข่งขันจากโครงการ Coding at School Powered by KidBright เป็นอีกหนึ่งจินตนการจากฝันสู่ความเป็นจริง ของทีมนักวิจัย และผู้ดำเนินโครงการ เนคเทค-สวทช. ที่คาดหวังว่า ทริปเล็กๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ จะช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ของน้องๆ และอาจารย์ ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ของเด็กไทย ให้สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยสร้างผลงานได้ตามจินตนาการ สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคต