- บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) จัดสัมมนาออนไลน์ “Thai Microelectronics Seminar 2021” ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมเพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมจากทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐ ร่วมขับเคลื่อนไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรรวม นำประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ภายใต้หัวข้อ “Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564
ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงิน หัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรสําหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวม ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Smart Electronics เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เดิมอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทยมีการลงทุนในด้านการผลิตแบบ Mass Production ที่อยู่ภายใต้เครือข่ายการผลิตของบริษัทแม่ในต่างชาติ มากกว่าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบเพื่อยกระดับการผลิตจากการผลิตตามแบบ OEM (Original Equipment Manufacturing) มาเป็นผู้ผลิตที่มีการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้ด้วยตนเอง ODM (Original Design Manufacturing) มากขึ้น อีกทั้งบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศได้เพิ่มส่วนงานการออกแบบผลิตภัณฑ์มาอยู่ในประเทศ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้
ดังนั้น การพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างอุตสาหกรรมบนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้การวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น Smart Electronics ซึ่งอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ อันได้แก่ การออกแบบวงจรรวม (IC Design) การผลิตวงจรรวม (IC Fabrication) และการบรรจุภัณฑ์วงจรรวม (IC Packaging) จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม สร้างงานและรายได้ ที่จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน
งานสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้าน Smart Electronics ประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประยุกต์ใช้งานชิป และผู้ที่อยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ Smart Electronics
Smart Electronics ไทย ไร้ Ecosystem ?
ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนาฯ ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ ผู้อํานวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Strengthening the Smart Electronics Ecosystem” อย่างไรก็ตามสำหรับมุมมองของดร.วุฒินันท์นั้น ก่อนจะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ต้องสร้างระบบนิเวศดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงก่อน
- “เพราะ Smart Electronics Ecosystem ในเมืองไทยมันยังไม่มีจริง ๆ”
ดร.วุฒินันท์ ได้ยกตัวอย่างระบบนิเวศของการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี One Stop Service ของ Value Chain ในการสร้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่การออกแบบเซนเซอร์ การทำบรรจุภัณฑ์ การสร้างวงจรที่เหมาะสม การสร้างมาตรฐาน การออกแบบ Display ของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้น TMEC จึงพยายามผลักดันระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จากการแสวงหาพันธมิตรต่างประเทศเพื่อร่วมโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้ความสำคัญของกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์จากเซนเซอร์มูลค่าสูงในทุก ๆ Value Chain และถ่ายทอดให้กับพันธมิตรภายในประเทศได้พัฒนาความสามารถ นำไปสู่การสร้างสินค้าจากเซนเซอร์มูลค่าสูงทุกกระบวนการได้ภายในประเทศได้
“อย่างไรก็ตาม บางกระบวนการอาจไม่จำเป็นต้องทำในประเทศก็ได้หากมูลค่าไม่สูง เราพยายามดึงงานที่มูลค่าสูงเข้ามาทำในประเทศไทย และคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างระบบนิเวศนี้ได้จริง ๆ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศของ Smart Electronics นั้น คือ การเพิ่มการออกแบบ หรือ แนวคิดใหม่ ๆ ให้กับสินค้า กล่าวคือ การพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องของสินค้าในแต่ละเวอร์ชันให้ตอบโจทย์และเข้าใจตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ” ดร.วุฒินันท์ อธิบาย
- ด้วยแรงบันดาลใจของ TMEC ที่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเกิดการกระจายรายได้แก่คนในประเทศอย่างแท้จริงจากการสร้างระบบนิเวศเหล่านี้
ดังนั้น นอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิต Sensor Wafer รายเดียวของประเทศให้กับต่างชาติแล้ว TMEC จึงพยายามนำเซนเซอร์ที่มีประโยชน์ มีผู้ผลิตน้อย และมีโอกาสเติบโตสูง ผลักดันไปสู่สินค้าปลายทางในลักษณะของธุรกิจ B2C
โดยระบบนิเวศของ Smart Electronics จะช่วยให้มูลค่ารวมของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายเท่า ดร.วุฒินันท์ ยกตัวอย่างกรณีของเซนเซอร์ว่า หากขายเซนเซอร์เปล่า ๆ สนนราคาตัวละไม่เกินหลักสิบถึงร้อยบาท แต่เมื่อรวบรวมผู้เล่นใน Value Chain มาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งมีราคาในตลาดประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ในขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการกระจายรายได้จากมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้เล่นใน Value Chain ของอุตสาหกรรมอีกด้วย
เสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future
การเสวนา Smart Electronics, A Leap for Thailand’s Future ได้รับเกียรติจากตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับ Smart Electronics ก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ นำโดย
- นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)
- ดร.เฉลิมศักดิ์ สุมิตไพบูลย์ ที่ปรึกษาส่วนงานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
- และร่วมดำเนินรายการโดย ดร.อมร จิระเสรีอมรกุล Principle Research Engineer บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
Smart Electronics หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายและท้าทายของประเทศ
Smart Electronics เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่ภาครัฐให้ความสำคัญ โดยบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่เป็นผู้เสนอแนะนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จัดทำแผนภาพอุตสาหกรรมของประเทศ วิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม สำหรับด้าน Smart Electronics นั้น สศอ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนต่อไป
คุณพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุก ๆ S-Curve ด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ IoT เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการอุปกรณ์อัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์ การบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน”
อย่างไรก็ตาม คุณพะเยาว์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงปี 2559-2564 นั้นมีมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยมีอัตราการเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 ต่อปี ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจึงเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศ
ดังนั้น สศอ. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2570) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ
- เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน และมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory และ Smart Farm [1]
Smart and Connected System โอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในมุมมองของผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการในร่างยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม โดย คุณณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เล่าว่า ถ้าเราต้องการเพิ่มมูลค่าการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เราจะต้องยกระดับจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเทคโนโลยีเดิม ไม่ว่าจะเป็น วงจรรวม (IC) แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ให้ไปเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
คุณณรัฐ เสนอว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมองทั้งฝั่ง Demand และ Supply จะเห็นได้ว่า การเติบโตของระบบอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี IoT ทำให้เกิดโอกาสการพัฒนาสู่ Smart Electronics ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การนำเทคโนโลยีกลุ่ม Smart and Connected System ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ยกตัวอย่างปรากฏการที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสื่อสารกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบันที่อุตสาหกรรมเดิมต้องรับมาปรับตัว
อย่างไรก็ตามการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ความสมาร์ต สำหรับกลุ่มบริษัท SME ไทยอาจมีข้อจำกัด เพราะไม่มีส่วนวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นของตัวเองเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ จึงเกิดกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน SME ไทยให้มีการปรับใช้ Smart Electronics มากขึ้น คือ System Integrator (SI) และ System Developer (SD)
โดยคุณณรัฐได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมาตอบโจทย์ Pain Point ของระบบนิเวศอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะว่า Smart Electronics ไม่ใช่ศาสตร์ด้านเดียว มีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ดังนั้นการหาผู้ผลิตหรือนักพัฒนาที่มีองค์ความรู้ในทุก ๆ ด้านค่อนข้างยาก ทำให้จำเป็นต้องใช้ผู้ผลิตจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของนักพัฒนาด้วย
ดังนั้นในปี 2565 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงมีแผนในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางของประเทศเพื่อให้ผู้เล่นส่วนต่าง ๆ ใน Value Chain ของ Smart Electronics ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและแก้ไข Pain Point ของแต่ละส่วน
- “สิ่งที่ผมอยากเห็นต่อจากนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการบูรณาการมุมมองทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมแลกเปลี่ยน Pain Point และร่วมแก้ไขไปพร้อมกัน” คุณณรัฐ กล่าวเสริม
เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนากับการก้าวสู่ Smart Electronics
อุปสรรคในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยในมุมมองของ ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีไมโครชิปที่ผลิตโดยคนไทย สามารถพัฒนาต่อยอดไปทำตลาดได้ทั่วโลก นั้น กล่าวว่า “เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นอุปสรรคในการก้าวสู่ Smart Electronics”
ด้วยการไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ Smart Device ต่าง ๆ ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายด้าน จึงจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเงินทุนดังกล่าวเป็นสัดส่วนเดียวกับรายได้ ถ้ามีรายได้สูง โอกาสในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะสูงตามไปด้วย ฉะนั้นส่วนหนึ่งที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือ เงินสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐ
“การสร้างชิปหนึ่งชิ้นของเรา ต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำประมาณ 60 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าเราขอทุนจากรัฐบาลแล้วได้รับปีสองล้านไปจนถึงสิบล้านบาท คำถาม คือ เราต้องใช้เวลาในการผลิตจากเงินทุนที่เราได้มาจำนวนกี่ปี ซึ่งวงจรการผลิตไมโครชิป (Life Cycle) ถ้าจะแข่งขันให้ในตลาดได้จะต้องใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี” ดร.บดินทร์ กล่าว
โลกอิเล็กทรอนิกส์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าจะสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศอย่างไรให้เท่าทันสากล เดิมเรามักมองบริบทของเมืองไทยเท่านั้น เราไม่ค่อยบริบทของการส่งผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศโดย ดังนั้น ดร.บดินทร์ ได้เสนอปัจจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ก้าวไปข้างหน้าใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก เงินทุนหรือฐานสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐซึ่งควรจะเพิ่มขึ้นและชัดเจนตั้งแต่ต้นทางแทนที่จะเป็นการลดหย่อนภาษี โดยเงินทุนเหล่านี้นอกจากเกิดประโยชน์ด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังช่วยเพิ่มอัตราความต้องการทางการตลาดของตำแหน่งงานด้านอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคการศึกษามีโอกาสในการผลิตและพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ประเด็นถัดมา คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เน้นสนับสนุนการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้มากขึ้น “เพราะถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ก็จะไม่เกิดซอฟต์แวร์ หรือต้องพัฒนาซอฟต์แวร์บนพื้นฐานของต่างประเทศ เราจะกลายเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แทนที่เราจะเป็นผู้พัฒนา System หรือ Electronics solution จริง ๆ” ดร.บดินทร์ กล่าว
พลิกบทบาทหน่วยวิจัยต้นน้ำ ร่วมผลักดัน Ecosystem
ด้วยวิสัยทัศน์ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ที่มุ่งสร้างฐานรากด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ ดังนั้น บทบาทของเนคเทค สวทช จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่งานวิจัยต้นน้ำ แต่ร่วมสร้างและแสวงหาระบบนิเวศของงานวิจัยนั้น ๆ ด้วย
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ต้องการจะสร้างเทคโนโลยีที่จะเป็นฐานราก เป็นแพลตฟอร์มไปสู่การพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมต่อไป อย่างไรก็ตาม พันธกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เราจะแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อผลักดันระบบนิเวศของงานวิจัยให้เกิดขึ้น
“เราค้นพบว่าการทำวิจัยอย่างเดียวสุดท้ายจะไปจบอยู่บนหิ้ง ฉะนั้นการที่จะทำให้งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้งนั้น จำเป็นจะต้องสร้างระบบนิเวศ ปัจจุบันเนคเทค สวทช.เราทำงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำและอาจไปถึงปลายน้ำในการสร้างตลาดด้วย”
ยกตัวอย่าง ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC เดิมเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้เนคเทค สวทช. ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตวงจรรวมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะบริบทของการวิจัยเท่านั้น แต่สามารถให้บริการหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศในกระบวนการผลิตเซนเซอร์ วงจรรวมต้นแบบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้ทัดเทียมสากล และเป็นรากฐานในการพัฒนาสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต
ในมุมมองด้านการวิจัย ดร.พนิตา ได้กล่าวถึง การเปิดตัว NETPIE (Network Platform for Internet of Everything) แพลตฟอร์มไอโอทีสัญชาติไทย ในปี 2558 เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สู่ความสมาร์ต และเป็นตัวอย่างงานวิจัยต้นน้ำที่อาศัยระยะเวลากว่า 5 ปีค่อย ๆ เติบโตขึ้นในบริบทของการวิจัยพัฒนา สู่การใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ โดยส่วนหนึ่งของทีมวิจัยและพัฒนาได้ก้าวออกจากเนคเทค สวทช. และร่วมกันก่อตั้งบริษัทเอกชนขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการในระยะยาว พร้อมตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยล่าสุดได้เปิดตัว NETPIE 2020 เมื่อปีที่ผ่านมา
- “ดังนั้น การทำวิจัยในปัจจุบัน นักวิจัยจะต้องคิดมากกว่าการทำของหนึ่งชิ้น แต่ต้องคิดไปถึงกระบวนการขยายผลงานวิจัยสู่การผลิต หรือ ใช้งานจริงในวงกว้าง เพื่อขยับเข้าใกล้ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด” ดร.พนิตา กล่าวเสริม
สำหรับด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ปัจจุบันเนคเทค สวทช. มุ่งไปในบริบทของ Smart Factory โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center)ในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มต้นปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอทีด้านอุตสาหกรรม (Industrai IoT) เซนเซอร์ด้านอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
โดยเนคเทค สวทช. เริ่มต้นนำความต้องการจากภาครัฐที่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องส่งข้อมูลการใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงานไปยังกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทุกปี โดยสร้าง Low-cost solution ด้านการบริหารจัดการพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม นำร่องติดตั้งแพลตฟอร์ม IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform) หรือแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ใน 15 โรงงานในปี 2564 โดยใช้เซนเซอร์ ไอโอที และการทำ Data Analytics เพื่อลดขั้นตอนในการทำรายงานข้อมูลดังกล่าวของโรงงาน
“แพลตฟอร์ม IDA จะเป็นจุดเริ่มต้นให้โรงงานได้มีประสบการณ์ในการใช้ Smart Electronics ผลักดันให้เปิดใจยอมรับการใช้เทคโนโลยี และขยายผลต่อไปในการตรวจวัดอื่น ๆ ภายในโรงงาน” ดร.พนิตา อธิบาย
นอกจากนี้ บริการใน SMC ยังสนับสนุนการปรับตัวจากอุตสาหกรรม 2.0 สู่ 4.0 รวมไปถึงผลักดันระบบนิเวศอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เริ่มต้นตั้งแต่การประเมินความพร้อมและวิเคราะห์ปัญหาของโรงงาน การพัฒนากำลังคน การให้คำปรึกษาเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับปัญหาโดยเฉพาะ รวมไปถึงบริการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี (Testbed) เพื่อให้นักพัฒนาระบบ (System Integrator: SI) สามารถทดสอบระบบของตนเอง และทำ Proof of Concept ได้โดยไม่แทรกแซงกระบวนการผลิตจริง
“คนอิเล็กทรอนิกส์ขาดแคลน” รัฐ เอกชน การศึกษาต้องร่วมสร้างหลักสูตร
ภาคการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคคลากรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดย ดร.เฉลิมศักดิ์ สุมิตไพบูลย์ ที่ปรึกษาส่วนงานวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนวิศวกร และนักเทคนิค ในขณะเดียวกันเมื่อมีนักศึกษามาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาถึงหลักปีในการสอนงาน นำไปสู่การสร้างหลักสูตร “IC Packaging” เพื่อผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรมเข้าไปทำงานในเซมิคอนดักเตอร์โดยตรง
“ณ ปัจจุบันนี้หลักสูตรดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่เพียงพอต่อโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ซึ่งทราบว่ามีประมาณ 24-25 โรงงาน ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นทำ MOU กับบริษัทเอกชน” อย่างไรก็ตาม ดร.เฉลิมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะใกล้ตัวเรามาก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างรอบตัวต้องพึ่งพาอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงจรรวม ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีเทคโนโลยีที่เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ
“นโยบายตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ภาคการศึกษาผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือความต้องการของประเทศที่มุ่งไป ผมว่าเราต้องจับมือร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างหลักสูตรร่วมกันได้จริง ๆ”
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนานักศึกษาตอบโจทย์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใน 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
- การผลิตบุคคลากรด้านวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตวงจรรวม
- การผลิตบุคคลากรในการจำลองสร้างห้องปฏิบัติการ ห้องผ่าตัด ในโรงพยาบาล
- โครงการสหกิจศึกษา โดยนักศึกษาปีสุดท้ายจะต้องปฏิบัติงานจริงในโรงงานเป็นระยะเวลา 1 เทอม
- โครงการ Work Integrated learning (WIL) โดยส่งนักศึกษาปีสุดท้ายไปทำงานในโรงงานจริง และสามารถทำงานต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ทันที
- เวทีเสวนานี้ทำให้เราได้เห็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ จากการแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ของอุตสาหกรรมฯ นำไปสู่โอกาสในการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยต่อไป