ตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยการสื่อสารที่เหนือกว่า | เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วย CUI

Facebook
Twitter
digest-cui

บทความ | ดร.กุสุมาภรณ์ สมพงษ์, สิริสุดา รอดทอง
ทีมงานวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี (MIIT)
ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี
เรียบเรียง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์ , ภาพประกอบ | ยานี เจะเลาะ

ในยุคดิจิทัล . . . ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราล้วนมีประสบการณ์สัมผัสกับเทคโนโลยีล้ำสมัยผ่านอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่อยู่กับเราตั้งแต่ลืมตาตื่น ไปจนถึงหลับตานอนอย่าง Smart Phone ไม่ว่าจะใช้เพื่อค้นหาข้อมูล สั่งการแอปพลิเคชันต่าง ๆ การสนทนาเพื่อความความบันเทิง ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เราเพลิดเพลินไปกับเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง และข้อความที่บรรจุอยู่ใน Smart Phone เล็ก ๆ แต่กลับทำงานได้สารพัดสิ่ง

. . . ทราบหรือไม่ว่าเทคโนโลยีอันประกอบไปด้วยอักษร (Text) ภาพ (Vision) และเสียง (Voice) เหล่านี้อยู่เบื้องหลังการประยุกต์ใช้งานทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์การสื่อสารโลกปัจจุบันและอนาคตที่หลากหลายอีกด้วย
มูลค่าทางการตลาด

พรมแดนใหม่ที่ใช้เชื่อมต่อกับผู้บริโภค

“เสียงพูด คือ พรหมแดนใหม่ที่ใช้เชื่อมต่อกับผู้บริโภค”
— โซ ลอว์เรนซ์ ,ผู้อำนวยการดิจิทัลและอินไซต์ บริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส, 2561

เมื่อเทคโนโลยีเสียงกลายเป็นพรมแดนใหม่เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมทั่วโลกจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสื่อสารไปยังผู้บริโภคและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจและมีส่วนร่วมกับแบรนด์เช่นกัน

จากจุดเริ่มของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสนทนาด้วยเสียงอย่างจริงจังใน 5-6 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดทั่วโลกของเทคโนโลยีนี้จะสูงถึง 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปลายทางด้าน Customer Service & Marketing, E-Commerce & Sales, Healthcare, Business Application, Tax filling & Processing, Tutoring ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของรายได้และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านต้นทุน ความพึงพอใจ การดำเนินงาน และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันธุรกิจ

ด้วยการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ต่อผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจที่จะสามารถเข้าใจบริบทพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการ

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี Conversational User Interface หรือ CUI ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ กำลังเพิ่มบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความคาดหวังด้วยการรู้จักและรู้ใจผู้ใช้งานในปัจจุบันและอนาคต

 

ผู้บริโภคที่ครองอำนาจสูงสุดของเทคโนโลยี CUI

การเปิดรับและการใช้งานเทคโนโลยีการสนทนาด้วยเสียง

การสำรวจแนวโน้มในการเปิดรับและการใช้งานเทคโนโลยีการสนทนาด้วยเสียงและผู้ช่วยดิจิทัล

ผลสำรวจโดย Microsoft Market Intelligence ปี 2562 ของกลุ่มตัวอย่างใน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และอินเดีย จำนวน 5,000 คน พบว่า ผู้ใช้งานกลุ่ม Millennials (ผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1981 – 2000 หรือ พ.ศ. 2524 – 2543) เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบและใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวสูงสุดผ่านอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง ได้แก่ สมาร์ตโฟน ลำโพงอัจฉริยะ (Smart speaker) รถยนต์ ทั้งนี้ . . .

“ ผู้ใช้งานกลุ่ม Millennials ยังเป็นพลังขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยีมากกว่ากลุ่มอื่นเพราะมีวิธีการคิดนอกกรอบและมีไอเดียสร้างสรรค์จึงถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจมากที่สุด”

รองลงมาเป็นกลุ่ม Generation X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1965 – 1980 หรือ พ.ศ. 2508 – 2523) เป็นกลุ่มที่มีพลังขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีโดยมีอัตราการเติบโตของการใช้งานไม่สูงเท่ากลุ่มแรก

ในขณะที่ผลสำรวจผู้ใช้งานในกลุ่ม Future end user มีแนวโน้มการใช้งานสินค้าและบริการจาก 6 ภาคธุรกิจสำคัญ ได้แก่ หุ่นยนต์ การแพทย์ การศึกษา สมาร์ตโฮม ท่องเที่ยว การเงินการธนาคาร

โดยเหตุผลของการเลือกใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความสะดวกสบาย ความสามารถในการตอบโจทย์และเติมเต็มชีวิต ความรวดเร็วกว่าการพิมพ์ ความรู้สึกเท่ด้วยเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต และช่วยให้สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้

นอกจากนี้ การสำรวจผู้ใช้งานดิจิทัลในอาเซียนจำนวน 500 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 71% ยอมรับการใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบการสั่งการด้วยเสียง โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ได้มองเห็นความสำคัญของการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น เป็นผู้ช่วยในกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าที่สามารถให้คำแนะนำและข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่ตรงใจ และสามารถอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ได้

ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง แต่ 87% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการให้เทคโนโลยีนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ภาษาไทยกับการพัฒนา CUI

Thai CUI

สำหรับประเทศไทย… ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการใช้งานเทคโนโลยีการสนทนาด้วยเสียง โดยความต้องการใช้งานเทคโนโลยีสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. ความต้องการจากภาครัฐหรือสมาคมในฐานะผู้ผลักดันเชิงนโยบาย
  2. ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการต่อ

และผู้ใช้ปลายทาง (End User) ที่แบ่งเป็นผู้ใช้ระดับองค์กร (Organization)และผู้ใช้ระดับบุคคล (Personal) ซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกันไปตามระดับของการใช้งานเทคโนโลยี

ปัจจุบันผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็น Key players จะมีจุดเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป อาทิ ความสามารถในการประมวลผลภาษา ความสามารถเสริมในการเรียกใช้สินค้าและบริการ คุณภาพในด้านเสียงและการรับคำสั่ง

โดยการพัฒนาจุดเด่นของ Key players ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันในตลาดระดับภาษาสากล เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับบริการภาษาท้องถิ่นนั้นมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็น . . .
ข้อจำกัดด้านการแปลภาษาและความหมาย รวมไปถึงความเข้าใจภาษาในบริบทเฉพาะ อีกทั้งยังไม่มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายใดที่รองรับคำศัพท์เฉพาะของกลุ่มตลาด (Market Segment) เพื่อให้ระบบได้เรียนรู้และเลือกใช้คำโต้-ตอบให้สอดคล้องกับธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีความซับซ้อนทางภาษาและโครงสร้างของคำ

 

Thai CUI Platform : แพลตฟอร์ม CUI สัญชาติไทยรายแรกของไทย

เนคเทคเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาษาไทยภายใต้บริบทความเข้าใจภาษาธรรมชาติตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยและเป็นผู้พัฒนา Thai CUI Platform ที่รองรับการใช้งานภาษาไทยรายแรกโดยเปิดให้บริการแก่กลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ

NECTEC CUI Platform

Thai CUI Platform : แพลตฟอร์ม CUI สัญชาติไทยรายแรกของไทย

เนคเทคพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการในการเก็บส่วนแบ่งตลาดในกลุ่ม Niche Market หรือกลุ่มเฉพาะที่ต้องการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมซึ่งถือว่าเป็น Blue Ocean ที่สามารถส่งมอบ Value Proposition ในด้าน “Customer Interaction & Local Context”

และมีแผนค้นหาผู้ร่วมเดินทางสู่โลกธุรกิจ 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ . . .
  • กลุ่มผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (Cloud Provider) เพื่อสเกลระบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้น
  • ผู้ประกอบการ/อุตสาหกรรมที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการเพื่อสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าภายใต้บริบทภาษาไทยและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ปัจจุบันเปิดให้บริการทดลองใช้ผลงานต้นแบบ (Trial Version) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวการพัฒนาเทคโนโลยีได้ที่ https://www.aiforthai.in.th/

… ภายใต้การแข่งขันในโลกธุรกิจ
เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการผ่านความเข้าใจกลุ่มลูกค้า
ด้วย Thai CUI Platform …

อ้างอิง

(1) NSTDA Investor’s Day 2019
(2) ณัฐดนัย เนียมทอง.(2561). ยุคของการสั่งงานด้วยเสียง.
สืบค้นจาก https://www.scimath.org/article-technology/item/7823-2018-01-10-08-46-14
(3) Virtual Assistants Market Intelligence
สืบค้นจาก https://www.beroeinc.com/category-intelligence/virtual-assistants-market/
(4) Dyfed Loesche. (2017). Millennials Are the Most Prolific Digital Assistant Users.
สืบค้นจาก https://www.statista.com/chart/9934/voice-enabled-digital-assistant-users-by-generation/
(5) Xiaoxi He. (2018). Voice, Speech, Conversation-Based User Interface 2019-2029: Technology.
สืบค้นจาก https://www.idtechex.com/zh/research-report/voice-speech-conversation-based-user-interfaces-2019-2029-technologies-players-markets/637/
(6) MADDIE IRIBARREN. (2019). Microsoft Releases Voice Assistant Usage Report, Finds Apple Siri And Google Assistant Tied at 36%, and 41% of Respondents Have Privacy Concerns.
สืบค้นจาก https://voicebot.ai/2019/04/28/microsoft-releases-voice-assistant-usage-report-finds-apple-siri-and-google-assistant-tied-at-36-and-41-of-respondents-have-privacy-concerns/
(7) brandinside.asia. (2017). เจาะลึกเทรนด์ Voice Technology จริงหรือที่ “เสียง” จะมาเปลี่ยนเกมการตลาด (ตอนที่ 1).
สืบค้นจาก https://brandinside.asia/voice-technology-game-changer-ep1/
(8) https://www.tractica.com/newsroom/press-releases/
____________________________
หมายเหตุ :
เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามข้อคิดเห็นที่ปรากฏเป็นความคิดเห็นของทีมงาน MIIT ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณใด ๆ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า