TCI 2023 – วงการวารสารวิชาการไทยรวมตัว เตรียมพร้อมยกระดับคุณภาพสู่มาตรฐานและการอ้างอิงระดับสากล

Facebook
Twitter

ถ่ายภาพ : ศศิวิภา หาสุข
วิดีโอสัมภาษณ์พิเศษ : อัครพล กายขุนทด, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

วงการวารสารวิชาการไทยรวมตัว เตรียมพร้อมยกระดับคุณภาพสู่มาตรฐาน และการอ้างอิงระดับสากลในเวที “การประชุมเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14”

15 มี.ค. 2566 ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท Elsevier จัดการประชุมเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ครั้งที่ 14 เวทีสร้างเครือข่ายกองบรรณาธิการวารสาร อาจารย์ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องในวงการวารสารวิชาการไทย จำนวนกว่า 1,200 คน จากทั่วประเทศ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ รับฟังรายละเอียดทางด้านนโยบายการส่งเสริมวิจัยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ การนำนวัตกรรม/ เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI, IoE (Internet of Everything) มาช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพผลงานวิจัยทางวิชาการ กระบวนการ ผลลัพธ์ และบทเรียนจากโครงการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยสู่ฐานข้อมูล Scopus รวมถึงการนำเสนอเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย (Thailand Research Analysis and Performance : ThaiRAP) การบริหารจัดการวารสารไทยในระบบ Thailand Editorial System : ThaiES) และการประกาศร่างเกณฑ์การประเมินวารสารเข้า TCI รอบใหม่แก่บรรณาธิการวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของ TCI โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกองทุนส่งเสริม ทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธิเปิดการประชุม ร่วมด้วยคณะผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งไทย และต่างประเทศ อาทิ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย(TCI) ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อํานวยการด้านการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สกสว. Ms. Tracy Chen, Senior Product Manager Content and Policy , Elsevier จากประเทศเนเธอร์แลนด์

Exclusive Interview

ThaiJo คลังข้อมูลวารสารขนาดใหญ่ของประเทศ

ดร.กริช นาสิงห์ขันธุ์ นักวิจัย เนคเทค สวทช. ได้กล่าวถึงความร่วมมือ ระหว่างเนคเทค และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้ร่วมมือกันทางด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ ในการยกระดับคุณภาพวารสารของประเทศไทยด้วยระบบบริหารจัดการข้อมูลวารสารออนไลน์ (Thai Journals Online version 2.0: ThaiJo 2.0) ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 เพื่อส่งเสริมคุณภาพวารสารของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ รวมถึงการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบ ThaiJo สนับสนุนการทำงานของ TCI ทั้งในการพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศ/ ต่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบ ตลอดจนร่วมกันจัดกิจกรรมฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ขยายผลระบบ ThaiJo ไปสู่การใช้งานอย่างทั่วถึง

จุดเด่นของ ThaiJO 2.0

การบริหารจัดการระบบที่ส่วนกลาง ไม่เป็นภาระของทีมบรรณาธิการวารสาร มีกระบวนการตรวจสอบความซ้ำซ้อน (Plagiarism Checking) ในระบบ โดยใช้เครื่องมือ CopyCatch ให้ข้อมูลแก่บรรณาธิการเพื่อสนับสนุนการพิจารณาคุณภาพบทความ ยกระดับการยอมรับวารสาร ด้วยการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการนั้น เว็บไซต์ที่ได้มาตรฐาน ถือเป็นเกณฑ์หลักของทุกฐานข้อมูลวิชาการ ทั้งภายในประเทศ (Thai Citation Indexed) หรือระดับนานาชาติ เช่น Scopus, Web Of Science เป็นต้น ตอบโจทย์การมีเว็บไซต์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของวารสารวิชาการไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร ทำให้มีวารสารจำนวนไม่มากนักที่มีเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐานของตัวเอง

ThaiJO ถือเป็นระบบฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย เป็นแหล่งรวมวารสารวิชาการที่ผลิตในประเทศไทยทุกสาขาวิชา ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ปัจจุบันในระบบ ThaiJO ได้รวบรวม 1,244 วารสาร, 22,995 เล่ม, 243,140 บทความ และผู้แต่ง 531,394 คน พร้อมด้วยการพัฒนาความสามารถเพิ่มเติม

เปิดตัว!!! ThaiRAP ดัชนีวัดศักยภาพการวิจัยของประเทศไทย

ระบบวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศไทย (Thailand Research Analysis and Performance : ThaiRAP) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่จัดเก็บโดย TCI สามารถช่วยตอบคําถามในภาพรวมการวิจัยของประเทศ เช่น ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใด มีคนเก่งในแต่ละเรื่องอยู่ที่ไหนประสิทธิภาพของหน่วยงานวิจัย หรือ บุคลากรวิจัยในประเทศเป็นอย่างไร ทิศทางงานวิจัยของประเทศไทยเป็นอย่างไร และเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางนโยบายวิจัยได้อย่างไร

ความสามารถของระบบ ThaiRAP จะนำข้อมูลของ TCI มาประมวลผลวิเคราะห์ภาพรวมในด้านต่างๆ อาทิ สมรรถนะด้านการวิจัยของ นักวิจัย สถาบันวิจัย วารสาร (จํานวนการตีพิมพ์ จํานวนการอ้างอิง สาขาที่เชี่ยวชาญ) สามารถเปรียบเทียบสมรรถนะด้านการวิจัย ระหว่างสถาบัน หรือ นักวิจัย วิเคราะห์เพื่อหาความร่วมมือด้านการวิจัย ระหว่างสถาบัน หรือ นักวิจัย วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของหัวข้อวิจัย หรือ พื้นที่วิจัย ที่กําลังดําเนินการ หรือต้องการดําเนินการ รวมถึงการอ้างอิงข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากฐานข้อมูลของ TCI โดยระบบนี้จะนำร่องเปิดให้ทดสอบการใช้งานในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 30 หน่วยงาน (TCI จะเป็นผู้คัดเลือก) และจะเปิดการใช้งานระบบอย่างเป็นทางการสำหรับหน่วยงานทั่วไปในเดือนธันวาคม 2566

สนใจใช้งานระบบ ThaiJO ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.tci-thaijo.org
และสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสาร เกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารวิชาการ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ได้ทางเว็บไซต์ https://tci-thailand.org