SMC กับอุตสาหกรรม 4.0 ในบริบทของไทย

Facebook
Twitter
smc-ida-synhub

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ถ่ายภาพ | ตุลลาวัฒน์ หอมสินธ์

ศูนย์ SMC มีทั่วโลก ไทยแตกต่างอย่างไร ? อุตสาหกรรม 4.0 ในบริบทของไทยเป็นแบบไหน ?

SMC หรือ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวจากอุตสาหกรรม 2.0 สู่ 4.0

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “IDA (Industrial IoT and Data Analytics Platform) และ SMC (Sustainable Manufacturing) ในการประชุมสมาคมไทยไอโอที ณ SYN HUB Digital Community เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ใจความว่า

“คำว่าอุตสาหกรรม 4.0 ที่เรากำลังจะมุ่งไป ไม่ใช่บริบทแบบยุโรป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าทั้งหมดให้เป็นหุ่นยนต์ แต่เราควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Sensor, IoT, Machine Learning ควบคู่กับเครื่องจักรแบบเก่าเพื่อให้เครื่องจักรฉลาดขึ้น เครื่องจักรคุยกันได้ นี่คืออุตสาหกรรม 4.0 ในบริบทของไทย

smc-ida-synhub

โดยศูนย์ SMC จะช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยในภาคการผลิตสู่ Smart Factory ศูนย์ที่มีลักษณะคล้าย SMC มีอยู่ทั่วโลก โดย SMC ของไทยแตกต่างออกไป คือ เนคเทคพยายามชูการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศ (Local Technology) ทั้งจากมหาวิทยาลัยและจาก สวทช. เรามองว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดร.พนิตา กล่าว

smc-ida-synhub

การบริการใน SMC เริ่มต้นตั้งแต่การประเมินความพร้อมและวิเคราะห์ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนากำลังคนที่มีทักษะเชี่ยวชาญรองรับการเปลี่ยนแปลง การให้คำปรึกษาเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่เทคโนโลยีของเนคเทค-สวทช. แต่สามารถผสมผสานกับเทคโนโลยีต่างประเทศที่สอดคล้องกับสถานะความพร้อมของโรงงานนั้น ๆ ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับปัญหาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ SMC ยังมีบริการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี (Testbed) เพื่อให้นักพัฒนาระบบ (System Integrator) สามารถทดสอบระบบของตนเอง และทำ proof of concept ได้โดยไม่แทรกแซงกระบวนการผลิตจริง

ล่าสุด. . . เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการลงนามความร่วมมือในโครงการนำร่องโครงการแรกของ SMC คือ แพลตฟอร์ม IDA: แพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานในภาคอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Energy Data Analytics Platform)

smc-ida-synhub

“โครงการนี้เราพยายามนำร่องเพื่อสร้าง Low-cost solution ด้านการบริหารจัดการพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีโรงงานนำร่อง 15 แห่ง ความคาดหวังของเนคเทครวมถึงพันธมิตรรัฐร่วมเอกชน คือ เราจะไม่หยุดอยู่ที่ 15 โรงงานนี้ เราจะต้องขยายออกไปให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมในวงกว้างอย่างแท้จริง” ดร.พนิตา กล่าว

smc-ida-synhub

บทความที่เกี่ยวข้อง