รักษ์น้ำ | เทคโนโลยีทางรอด!! ร้อนนี้ 40 องศา ภัยแล้งก็มา น้ำประปาก็เค็ม

Facebook
Twitter
raknam-interview

 

บทสัมภาษณ์ | ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์
นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) เนคเทค-สวทช.
เรื่อง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
วิดีโอ | ศศิวิภา หาสุข

 

ยังไม่ทันจะเข้าสู่เดือนเมษายน อากาศบ้านเราก็ร้อนระอุทะลุ 40 องศาในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤตภัยแล้งก็มาเร็วกว่าทุกปี เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาระดับลงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนน้ำในเขื่อนน้อย เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ความเค็มรุกล้ำเข้ามาในกระบวนการผลิตน้ำประปา และคาดการณ์ว่าจะน้ำประปาที่มีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานนี้จะอยู่กับเราไปกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือน

 

ข่าวดี !!! ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงนั้นมาแล้วก็ไป ดังนั้นความเค็มไม่ได้รุกล้ำเข้ามาตลอดเวลา การประปานครหลวงสามารถวางแผนรับมือโดยเลือกสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาในช่วงที่ค่าความเค็มน้อยที่สุดได้ 

โดยมีตัวช่วย คือ เทคโนโลยีที่สามารถพยากรณ์การรุกล้ำของน้ำเค็มล่วงหน้านาน 7 วัน !

รักษ์น้ำ | ระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม

การแสดงข้อมูลน้ำ ณ ปัจจุบัน และการพยากรณ์ความเค็มครอบคลุมทั้งลำน้ำล่วงหน้า 7 วัน พร้อมสามารถทดลองบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจก่อนลงมือจริง ทั้งหมด คือ ไฮไลท์เด่นของระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อการบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม หรือ ระบบรักษ์น้ำ (RakNam)

“การพยากรณ์อะไรก็ตามให้แม่นยำ เราจำเป็นต้องดูว่า Predictability คืออะไร เราต้องจับแกนหรือปัจจัยหลัก ๆ ให้ได้”

ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส-เนคเทค กล่าวถึงหัวใจของการพยากรณ์ที่แม่นยำของระบบรักษ์น้ำ ความสามารถที่จะพยากรณ์ความเค็มของทั้งลำน้ำได้ถูกต้องแม่นยำล่วงหน้าถึง 7 วันนั้นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับการรุกล้ำของน้ำเค็มอย่างลึกซึ้ง

raknam-interview

 

เก็บทุกเม็ด ! ปัจจัยรุกล้ำน้ำเค็มสู่การพยากรณ์สุดแม่นยำ

รักษ์น้ำนำทุกปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู่ระบบเพื่อสร้างการพยากรณ์ที่แม่นยำที่สุด โดยปัจจัยหลักนอกเหนือจาก น้ำขึ้น – น้ำลง รวมถึงน้ำท่าที่ถูกปล่อยจากเขื่อนต่าง ๆ แล้ว ดร.ศิโรจน์เล่าว่า “ปัจจัยที่ก่อให้ปัญหามันพีคขึ้นมา คือ อิทธิพลจากลมมรสุม เช่น ความกดอากาศต่ำจากประเทศจีน พอมันแผ่เข้ามาถึงเมืองไทยมันจะเย็น ตัวมันก็เองก็พยายามขับน้ำทะเลแถว ๆ ทะเลจีนใต้เข้ามาด้วย ความเค็มมันจะพุ่งพรวดขึ้นมา”

ปัจจัยเรื่องการปล่อยน้ำก็สำคัญเช่นเดียวกัน คือ แถว ๆ สำแลที่สูบน้ำเข้ามาในระบบ ถ้ามีการผันน้ำจากฝั่งตะวันตก บริเวณแม่น้ำแม่กลองเข้ามาจะทำให้ผลกระทบของความเค็มของสำแลเปลี่ยนไป เราต้องนำ factor พวกนี้เข้ามาวิเคราะห์ทั้งหมดเพื่อให้ได้การพยากรณ์ที่แม่นยำมากขึ้น” ดร.ศิโรจน์ อธิบาย

พลังของข้อมูลที่มีคุณภาพ สู่ 3+1 ความสามารถของระบบรักษ์น้ำ

ความแม่นยำของการพยากรณ์ขึ้นอยู่กับข้อมูลปัจจุบันที่ระบบรักษ์น้ำได้รับ ด้วยโมเดลจำเป็นจะต้องสภาพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน ยิ่งระบบได้รับข้อมูล ณ ปัจจุบันที่ถูกต้องมากเท่าไหร่ การพยากรณ์ก็จะแม่นยำขึ้นเท่านั้น โดยระบบรักษ์น้ำได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากการประปานครหลวงนครหลวงในรูปแบบ API สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ กรมชลประทานในการนำข้อมูลเข้ามาใช้งานในระบบ

3 + 1 ความสามารถของระบบรักษ์น้ำ

1) R-Monitor
รักษ์น้ำสามารถแสดงข้อมูลคุณภาพน้ำ ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำฝนและน้ำขึ้น-น้ำลง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจากสถานีตรวจวัดในพื้นที่มารวมรวมไว้ในระบบเดียว
raknam-interview

 

2) R-Forecast
รักษ์น้ำสามารถพยากรณ์ความเค็มครอบคลุมทั้งลำน้ำและน้ำขึ้น-น้ำลงล่วงหน้า 7 วัน โดยอัตโนมัติและมีความแม่นยำสูง
3) R-Scenario
รักษ์น้ำสามารถจำลองเหตุการณ์เพื่อทดลองใช้กระบวนการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาการรุกล้ำน้ำเค็มให้เห็นผลลัพธ์ก่อนลงมือทำจริง “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทดลองได้ว่าจากผลการพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วันนั้น หากใช้กระบวนการบริหารจัดการน้ำ เช่น ปล่อยน้ำในปริมาณมากขึ้น ปล่อยน้ำเป็นจังหวะ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน” ดร.ศิโรจน์ อธิบาย
raknam-interview

 

และเร็ว ๆ นี้เตรียมตัวพบกับอีกหนึ่งความสามารถของระบบรักษ์น้ำเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มอย่างเต็มรูปแบบ ด้วย R-Optimize

ดร.ศิโรจน์ เล่าว่า “อีกตัวหนึ่งที่เราพยายามทำและตอนนี้ใกล้สำเร็จแล้ว คือ โมดูลที่เรียกว่า Optimize ซึ่งปัจจุบันคือ ตัว Scenario ยังเป็นแมนมวลอยู่ คือเราลองปรับตรงนั้น ตรงนี้ แล้วดูว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ Optimize นี้เราสามารถบอกมาเลยว่าเราต้องการ Oobjective หรือเป้าหมาย แบบนี้ เช่น อยากให้พื้นที่ตรงนี้มีความเค็มน้อยกว่า X ตลอดเวลา 7 วัน ระบบจะบอกได้ว่าเราต้องทำอย่างไร ต้องปล่อยน้ำลักษณะใด ปริมาณเท่าไหร่ หรือต้องบริหารจัดการน้ำอย่างไร”

• ขยายผลพื้นที่ เพิ่มข้อมูลคุณภาพน้ำ คือ ก้าวต่อไปของระบบรักษ์น้ำ

แนวทางการพัฒนาระบบรักษ์น้ำ เป็นไปใน 2 ทิศทาง คือ (1) การขยายผลเชิงพื้นที่ ด้วยระบบมีฐานเรื่องของอ่าวไทยอยู่แล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะขยายพื้นที่การแสดงผลและพยากรณ์ไปไปยังลุ่มน้ำอื่นนอกเหนือจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงได้ (2) การพัฒนาความศักยภาพของระบบให้สามารถพยากรณ์คุณภาพของน้ำได้มากขึ้น เช่น ค่าความขุ่น อุณหภูมิ pH ค่า BOD (Biological Oxygen Demand) เป็นต้น

 

Interview | ชวนคุยเรื่องรักษ์น้ำ กับ ดร.ศิโรจน์ ศิริทรัพย์