- บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
- ถ่ายภาพ | ธนวิชญ์ ทิพย์ทอง สิมิลัน สถาวร และอภิษฐา นิรัตติศัย
ชมฟรี ! สัมมนาเรื่องราว 6 เทคโนโลยีในเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองในบริบทไทยและต่างประเทศจากผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเนคเทค สวทช. ได้ร่วมนำประเด็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการทั้งในเชิงองค์ความรู้และแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น AI, Big Data, Smart Farm, Smart Indusrty, Creative Economy ด้านการท่องเที่ยวและชุมชน สู่หัวข้อสัมมนาในงาน NAC2021 หรือ งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นในรูปแบบ New Normal ผ่านเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac/2021 เมื่อวันที่ 25 – 30 มีนาคม ที่ผ่านมา
- สำหรับบทความนี้ … เนคเทคชวนทุกคนมาเติมความรู้แบบฟรี ๆ กับเนื้อหา Digital Technology แบบเน้น ๆ 6 หัวข้อสัมมนา ทั้งในรูปแบบสรุปประเด็นสำคัญ หรือ VDO การสัมมนาฉบับเต็ม ถ้าพร้อมแล้วลุยเลย !
ฉายชัด ! โรดแมป AI ประเทศไทย ในสัมมนา “กลยุทธ์และทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย”
“เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและส่งเสริมเพื่อให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ล่าสุดกระทรวงอว.และดีอีเอส ได้ร่วมกันจัดทำร่างแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2564-2570 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570”
อย่างไรก็ตามหลายประเทศได้จัดทำแผนแม่บทด้านปัญญาประดิษฐ์ขึ้นแล้ว โดยการสัมมนานี้ได้ฉายภาพเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์ของประเทศญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้เล่าถึง กลยุทธ์และทิศทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เริ่มเดินหน้าร่วมกันจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อ “สร้างคน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบด้านสังคมด้วยปัญญาประดิษฐ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนซึ่งเป็นจุดเด่นของกลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ไทยที่แตกต่างจากต่างประเทศซึ่งเน้นด้าน Startup และงานวิจัย
นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการสัมมนายังมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานในระยะเร่งด่วนกับ 3 อุตสาหกรรม จากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ การเกษตร และการบริการภาครัฐ ในเสวนา “มองต่างมุมกลยุทธ์และทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย” อีกด้วย
Big Data กับการพัฒนาท้องถิ่นสู่ความ Smart ! ในสัมมนา สู่การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับชุมชน (Community Big Data Platform) ในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
การสัมมนานี้ได้เล่าถึงตัวอย่างการนำ Big Data ไปใช้พัฒนาประเทศทั้งในมุมมองของประเทศเกาหลีและประเทศไทย ยกตัวอย่างระบบ Transport Operation & Information Service คือ การใช้ Big Data ปฏิรูประบบขนส่งในกรุงโซล ประเทศเกาหลี รวมไปถึงกรณีตัวอย่างของกฎหมายและนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของเกาหลี กรณีตัวอย่างของการนำข้อมูลใหญ่ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานพัฒนา Smart City ของเกาะเชจู
สำหรับประเทศไทยได้มีการนำ Big Data ไปใช้ในระดับท้องถิ่น เช่น โครงการ University to tumbol ซึ่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ก่อให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของการนำ Big Data มาพัฒนาชุมชน คือ แพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายสาขา องค์กร เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
ในช่วงท้ายของการสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองความสำคัญของ Big Data Platform สำหรับชุมชนในยุควิถีใหม่ โดยได้มีการยกตัวอย่างระบบ #TPMAP กับการชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความช่วยเหลือในช่วงหลัง COVID-19 โดยการนำข้อมูลจากหลายแหล่งมายืนยันซึ่งกันและกัน เพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด
‘ต่อยอด ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ! แนวทางการพัฒนา HandySense” ในสัมมนา เทคโนโลยีแบบเปิดเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)
HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ คือ อุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) มาพร้อมกับความโดดเด่นคือ อุปกรณ์ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้
สำหรับการสัมมนาฯ นี้ ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้เล่าถึงการเปิดตัว HandySense Open Innovation เพื่อมอบพิมพ์เขียวต้นแบบงานวิจัยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ นำไปผลิตหรือจำหน่าย ภายใต้แนวคิด Smart Farmimg Open Innovation ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เปิดเผยรายละเอียดการผลิต โดยไม่คิดค่า License หรือ ค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยคาดหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ มีเครื่องมือด้านการเกษตรที่ทันสมัย ในราคาจับต้องได้ และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือด้าน Smart Farm โดยคนไทยต่อไป
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน ภาคเกษตรกรที่มีบทบาทในการส่งเสริมเทคโนโลยี รวมถึงมุมมองของนักวิจัยและพัฒนา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการต่อยอดพิมพ์เขียว HandySense ให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนทั้ง ไม่เฉพาะในบริบทด้านการเกษตรเท่านั้น แต่รวมไปถึงด้านการประมง และปศุสัตว์ อีกด้วย
โดยได้พูดคุยถึงความต้องการของภาคเกษตรที่ไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ต้องการนวัตกรรมที่ใช้งานง่าย ใช้ได้จริง แนวทางและโอกาสเติบโตทางธุรกิจด้าน Smart Farm ของผู้ประกอบการ แนวทางการสนับสนุนด้านอินเทอร์เน็ตในราคาเหมาะสมของผู้ให้บริการเครือข่าย นโยบายของท้องถิ่นได้เข้ามาสนับสนุนการนำ HandySense ไปใช้งานในวงกว้าง รวมไปถึงมุมมองการพัฒนาความสามารถของ HandySense ให้ตอบโจทย์การใช้งานของเกษตรในอนาคต
ทั้งนี้นอกเหนือจากการเปิดพิมพ์เขียว HandySense เป็น Open Innovation แล้ว เนคเทค สวทช. ยังมีแนวคิดในการต่อยอดข้อมูลจาก HandySense สู่ข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) ด้านการเกษตรในอนาคตอีกด้วย
- 👉 ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ
- Facebook Group: https://www.facebook.com/groups/handysense/
ยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง บนพื้นฐานวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ
แพลตฟอร์มนวนุรักษ์ (NAVANURAK) เทคโนโลยีบูรณาการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงและใช้งานในรูปแบบเปิด (Linked Data and Open Data) และพัฒนาโมดูลต่างๆ เพื่อขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลให้รองรับการนําไปใช้ในบริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมการนําข้อมูลดิจิทัลที่มีชุมชนเป็นเจ้าของข้อมูลไปต่อยอด
โดยภาคเอกชนที่มีแพลตฟอร์มสินค้าสามารถนํามาเชื่อมโยงกับข้อมูลเฉพาะของชุมชนและสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มได้ เกิดการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ ยกระดับปราชญ์ชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดึงความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge ในการสร้างอัตลักษณ์การท่องเที่ยว
การสัมมนาในครั้งนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมองในการขับเคลื่อนและยกระดับการท่องเที่ยวไทย สู่ท่องเที่ยวมูลค่าสูง บนพื้นฐานวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีบทบาทด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน
คุณรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ (RNS) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงคนไทยเอง เพราะมีที่แหล่งท่องเที่ยวมากมาย ตั้งแต่บนยอดเขาสูงจรดท้องทะเล ที่มีความสวยงาม พร้อมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์พื้นถิ่น ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยมีของดีมากมาย ฉะนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีต้นทุนมหาศาลสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงได้
การสัมมนาฯ เริ่มต้นจากการพูดคุยถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานรวมถึงมุมมองต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการท่องเที่ยวโดยชุมชน การเริ่มต้นศึกษาจุดเด่นของพื้นที่ตำบลบ้านแพรกสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ การทำธุรกิจเพื่อสังคมคู่ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ภาคการศึกษาที่ผลิตบุคคลากรสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านหลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมไปถึงมุมมองด้านการวิจัยและพัฒนา “แพลตฟอร์มนวนุรักษ์” คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการอนุรักษ์ โดยมีแนวคิดว่าชุมชนจะต้องเรียนรู้และสามารถดูแลข้อมูลของตัวเองได้ โดยคาดหวังการเชื่อมโยงข้อมูลชุมชนสู่ระดับประเทศ
รวมไปถึงประเด็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ปัญหาของการท่องเที่ยวไทยในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความคาดหวังต่อการสร้างคุณของการท่องเที่ยวในอนาคต และการสนับสนุนเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงให้แก่ประเทศ
Lean! ทางรอด SME ในยุค 4.0
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนหรือ หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) ให้ความสำคัญกับการไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใช้ในการจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีประสิทธิผลสูงสุดก็ต่อเมื่อวิธีการบริหารจัดการกระบวนการผลิตนั้นอยู่ในแนวทางที่เหมาะสม โดยการผลิตแบบ Lean Manufacturing จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยในการเตรียมความพร้อมและรองรับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า การสัมมนานี้ได้นำเสนอแนวคิดและหลักการของ Lean Manufacturing รวมถึงกรณีศึกษาการนำ Lean Manufacturing มาใช้ในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก การพัฒนาระบบ IoT เพื่อสนับสนุนการใช้ลีในโรงงาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการประยุกต์ใช้ลีนโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคการศึกษาภาควิจัยและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน
การผลิตแบบ Lean Manufacturing System คือ ระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการมูลค่าให้กับสินค้า ได้แก่ ประสิทธิภาพการทำงาน ประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการกำจัดความสูญเปล่าและสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการลดต้นทุน โดยการพัฒนาระบบ IoT เพื่อสนับสนุนการใช้ลีนในโรงงานนั้น สามารถนำมาใช้หาความสูญเปล่า (waste) ที่เกิดจากระบบได้ผ่านการวัดค่าต่าง ๆ และนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data analytics) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความสูญเปล่าได้ รวมถึงสามารถทำให้ผู้ใช้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณทำให้เกิดการควบคุมต่าง ๆ ในระบบลีนได้
โดยในช่วงท้ายของการสัมมนาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคการศึกษา ภาควิจัย และภาคอุตสาหกรรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการนำ Lean Manufacturing System ไปใช้ในโรงงาน SME ให้ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาบุคคลากรเพื่อให้การปรับใช้การผลิตแบบลีนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์
- “เชื่อว่าผู้ประกอบการในปัจจุบันมักประสบปัญหาว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงและปรับใช้เทคโนโลยีด้าน Smart Factory ได้”
ด้วยเทรนด์ของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอัจฉริยะและปัญหาด้านอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนแรงงาน แรงงานขาดทักษะ เครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมมีสภาพเก่าและชำรุดส่งผลต่อปัญหาในกระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมการขาดการเพิ่มมูลค่า เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เกิดความตระหนักและต้องการปรับปรุงโรงงานไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนและรองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC (Sustainable Manufacturing Center) เป็นส่วนหนึ่งของเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0
โดย SMC จะเข้ามาเป็นตัวช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ด้วยบริการ 5 ด้าน เริ่มต้นตั้งแต่การประเมินความพร้อมและวิเคราะห์ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนากำลังคนที่มีทักษะเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่เทคโนโลยีภายในประเทศ แต่สามารถผสมผสานกับเทคโนโลยีต่างประเทศที่สอดคล้องกับสถานะความพร้อมของโรงงานนั้น ๆ ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับปัญหาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ SMC ยังมีบริการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี (Testbed) เพื่อให้นักพัฒนาระบบ (System Integrator) สามารถทดสอบระบบของตนเอง และทำ proof of concept ได้โดยไม่แทรกแซงกระบวนการผลิตจริง
โดยแพลตฟอร์ม IDA: แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) โดยเนคเทค สวทช. เป็นโครงการนำร่องใน SMC ที่จะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการพลังงานในราคาที่เหมาะสมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (Low-cost solution) จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ และ ไอโอที โดยจะช่วยในการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานแบบ real-time การวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักร การแก้ปัญหาการใช้พลังงานของเครื่องจักร การบำรุงรักษาในเชิงพยากรณ์ และนำไปสู่การสร้างโมเดลการบริหารจัดการพลังงานในภาพรวมของประเทศต่อไปในอนาคต
SMC ยังได้พัฒนา Reconfigurable Manufacturing Demo-line คือ ระบบสายการผลิตที่มีสายการผลิตผสมระหว่างสายการผลิตจริงและสายการผลิตเสมือน เพื่อให้สามารถแสดงผลทั้งในจอภาพ (Virtualization) และผลิตภัณฑ์จริงบนสายการผลิต สำหรับการผลิตแบบ Mass Customization ซึ่งเป็นจุดเด่นของอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้นักวิจัย นักพัฒนาระบบ (SI) มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนได้ศึกษาเรียนรู้ พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่อยอดการใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติต่อไป
นอกจากนี้การสัมมนายังกล่าวถึงเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทกับโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าอัจฉริยะ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลือกใช้คลื่นความถี่ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยการพัฒนาของเทคโนโลยี 5G จะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Industrial IoT การสื่อสารที่มีความหน่วงต่ำและมีความน่าเชื่อถือสูง และอุปกรณ์ chipset ต่าง ๆ โดยเนคเทค สวทช.ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อโรงงานและสามารถเชื่อมต่อ 5G ได้ในอนาคต ได้แก่ แพลตฟอร์มระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร (UNAI) แพลตฟอร์มไอโอที (NETPIE) รวมไปถึงแพลตฟอร์ม IDA