เตรียมลงสนามใช้จริง 40 เครื่อง! “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ

Facebook
Twitter
mutherm-nbtc

 

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพประกอบ | ศศิวิภา หาสุข

 

วิกฤตไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจอุณหภูมิร่างกายของตนมากขึ้น ด้วยอุณหภูมิร่างกายเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้การติดเชื้อ COVID-19 รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรงอีกมากมาย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย และ โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

การตรวจวัดอุณหภูมิจึงกลายเป็นด่านแรกก่อนก้าวเข้าสถานที่ใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านจึงมีจุดคัดกรองเบื้องต้นพร้อมด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องอินฟาเรดเทอร์โมมิเตอร์แบบยิงหน้าผาก ซึ่งมีความแม่นยำค่อนข้างสูงและราคาถูก แต่ตรวจวัดได้ครั้งละหนึ่งคนเท่านั้นทำให้การแปรผลล่าช้า และไม่สามารถรักษาระยะห่างกับอีกฝ่ายได้มากนักซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่บุคคลที่ทำการตรวจวัด หรือ กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imaging Camera) ที่ใช้ ณ ท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ แม้ว่าจะสามารถวัดอุณหภูมิได้หลายคนพร้อมกันและมีความแม่นยำค่อนข้างดี แต่มีราคาสูง

ล่าสุด . . . จากประสบการณ์การทำวิจัย พัฒนา และ วิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอินฟราเรดกว่าสิบปี

ไทยพัฒนาระบบตรวจอุณหภูมิอัจฉริยะเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ โดยใช้กล้องตรวจจับความร้อนสแกนใบหน้าได้ครั้งละหลายคนพร้อมกันอย่างแม่นยำ รู้ผลภายใน 0.1 วินาที จากระยะห่าง 0.5-1.5 เมตร สามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้ภายในตัวเครื่องผ่านเครือข่ายการสื่อสาร นอกจากนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อและจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ IoT ในราคาที่เข้าถึงได้

“มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” (μTherm FaceSense) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ

“มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” (μTherm FaceSense) หรือ ระบบตรวจวัดอุณหภูมิใบหน้าแบบไม่สัมผัสทีละหลายบุคคลและการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายการสื่อสาร ซึ่งต่อยอดผนวกจุดแข็งและปรับปรุงข้อจำกัดของมิวเทอร์มในอดีต ด้วยความสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

MuTherm

 

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการรองผู้อำนวยการเนคเทค- สวทช. กล่าวว่า “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ได้ต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาเดิมของทีมวิจัย และผนวกระบบคัดกรองอุณหภูมิบุคคลโดยไม่สัมผัสที่สามารถจับตำแหน่งของบุคคลแบบอัตโนมัติ (Automatic Human Detection) เชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ IoT สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านการแสกนใบหน้าครั้งละหลายคนแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ

mutherm-nbtc

 

mutherm-nbtc

 

“มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” สามารถตรวจวัดอุณหภูมิจากใบหน้าบุคคลระยะห่างสูงสุดถึง 1.5 เมตร ภายในเวลา 0.1 วินาที โดยค่าอุณหภูมิจะแสดงเป็นตัวเลขบนจอ หากอุณหภูมิเกินค่าที่กำหนดตัวเลขจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงและส่งเสียงเตือน

“เทคโนโลยีนี้ใช้การตรวจจับคลื่นความร้อนจากวัตถุสู่ตัวกล้อง ดังนั้นสถานที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้งใช้งานควรเป็นสถานที่ที่ความแปรปรวนของอากาศไม่มากเกินไป ซึ่งตรงตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบบนี้สามารถตั้งค่าชดเชยอุณหภูมิ (Offset Temperature) และระยะการตรวจวัดที่เปลี่ยนไป อันเป็นสิทธิบัตรของทีมวิจัยโฟโทนิกส์ (PHT) เนคเทค – สวทช. เพื่อชดเชยผลจากอุณหภูมิ ความชื้น และระยะห่างของบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าอุณหภูมิที่แม่นยำที่สุด” ดร.ศรัณย์ อธิบาย

MuTherm

 

ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) – เนคเทค ให้ข้อมูลว่า ฟังก์ชันการตรวจจับใบหน้าบุคคล (Face Detection) ทำให้ระบบทำการวัดอุณหภูมิจากบุคคลจริง ๆ ไม่ใช่อุณหภูมิทั่วไป พร้อมกันนี้ยังสามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้ครั้งละหลายคน ช่วยลดระยะเวลาการตรวจวัด พร้อมลดความเสี่ยงจากความใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และผู้รับการตรวจคัดกรอง

“เมื่อก่อนทีมเราพัฒนาการตรวจจับแบบเต็มใบหน้า แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บุคคลจึงจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เราจึงพัฒนาระบบที่สามารถตรวจจับใบหน้าได้แม้ใส่หน้ากาก ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากผ้า หน้ากากทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง ไปจนถึงหน้ากาก N95 พร้อมกันนี้สามารถพัฒนาต่อยอดฟังก์ชั่นนี้ในสถานการณ์ด้านความมั่นคงในอนาคต” ดร.ชาลี กล่าว

MuTherm

 

คุณอาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ (PHT) – เนคเทค กล่าวว่า “ระบบนี้ติดตั้งใช้งานง่ายเพียงนำตัวเครื่องไปเชื่อมต่อกับจอแสดงผลผ่าน HDMI โดยทีมวิจัยได้ออกแบบระบบบันทึกข้อมูลวิเคราะห์และประมวลผลภายในตัวเครื่อง สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นสาย LAN เครือข่าย 3G/4G หรือ Wi-Fi”

ในอนาคตข้อมูลอุณหภูมิและภาพใบหน้าดังกล่าวจะถูกบันทึกในเซิฟเวอร์ หน่วยงานเจ้าของสถานที่ หรือ บุคคลที่ได้รับอนุญาตจะสามารถตรวจสอบข้อมูลการตรวจวัด ผ่าน Dashboard เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือ แอปพลิเคชันได้ นำไปสู่การป้องกันการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อและการติดตามการระบาดของโรคแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิง ใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวัง เพื่อกำหนดมาตราการลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อหรือการสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเสียสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาได้อีกด้วย

“ปัจจุบัน “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” ได้ใช้ทดสอบการคัดกรองเบื้องต้นที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ประมาณพันกว่าคนพร้อมบทความเผยแพร่ทางวิชาการซึ่งให้ผลที่ในเชิงวิชาการยอมรับ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพิ่มเติมตามเกณฑ์การทดสอบขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมลงสนามใช้จริง 40 เครื่องกระจายไปยังหน่วยงานที่มีความเสี่ยงภายในเดือนพฤษภาคมนี้” ดร.ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

MuTHERM Timeline

mutherm-nbtc

 

สนใจ “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” (μTherm-FaceSense)

Cinque Terre

 

Cinque Terre

 

บทความที่เกี่ยวข้อง