ทิศทางสื่อสอน Coding สัญชาติไทยในภารกิจก้าวทันเทคโนโลยี

Facebook
Twitter
kidbright-ecosystem

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพประกอบ | กรรวี แก้วมูล

ทักษะศตวรรษ 21 | ทักษะแห่งอนาคต | วิทยาการคำนวณ | Coding

เทรนด์ร้อนแรงในทุกวงการของโลก ประเทศไทยจึงปรับหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่เพื่อเตรียมคนสู่อนาคต อนาคตที่ใครว่าไม่แน่นอนนั้นถูกจู่โจมด้วยความเปลี่ยนแปลงเสมอ

“KidBright” สื่อการสอน Coding วิชาดาวเด่นในหลักสูตรน้องใหม่ ว่ากันว่าเป็นไม้เด็ดของการศึกษาไทยเพื่อเตรียมเด็กไทยสู่ศตวรรษ 21 โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมา KidBright กว่า 2 แสนบอร์ดตบเท้าเดินทางสู่ห้องเรียน Coding ทั่วประเทศ ถ้าใช้ปริมาณเป็นมาตรวัดความสำเร็จ KidBright คงเดินทางถึงตอนจบแบบ Happy Ending

แต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นโจทย์ท้าทายนวัตกรรมเพื่อการศึกษาว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ . . .
 

เปิดตัว “KidBright Open Source” รับคำท้าทายจากเทคโนโลยี

การเปิดตัว KidBright Open Source ในปี 2558 นับเป็นการแบไต๋เปิดเผยต้นฉบับของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของ KidBright ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น KidBright ไม่ได้มี Open Source ไว้ให้ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” ทุกคนสามารถพัฒนา แก้ไข ไปจนถึงการเป็นเจ้าของเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

มาถึงจุดนี้คงไม่พ้นต้องขมวดคิ้วกับการรับมือเทคโนโลยีของ KidBright ที่ทำให้หลายคนฉงนงงงวยไปตามกัน การเปิด Open Source ให้ทุกคนเข้ามาดู เข้ามาจับ เข้ามาปรับโน่นเสริมนี่ แถมเอาไปขายได้อีก แล้วจะสู้เทคโนโลยีได้อย่างไร ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค – สวทช. มีคำตอบ

“การทำให้ KidBright เติบโตเป็นล้านบอร์ด และทำให้ผลงานสร้างสรรค์ของ KidBright กว้างขวางออกไปกว่านี้ เนคเทค-สวทช.ทำคนเดียวไม่ได้ แล้ววิธีไหนที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศ เกิดการขยายตัวเป็นล้านบอร์ดขึ้นมาได้ เกิดการตื่นตัวของการศึกษาแบบ STEM Education เป็นที่มาของการเปิดตัวในวันนี้ว่าเนคเทค-สวทช. สนับสนุนให้ KidBright ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เป็น Open Source ทั้งหมด”

quote

 

สรุปง่าย ๆ คือ KidBright หงายการ์ด “คนเดียวหัวหาย หลายคนสู้ได้สบาย” ท้าทายเทคโนโลยี เมื่ออนาคตไม่รู้จุดสิ้นสุด กระแสเทคโนโลยี เร็ว แรง ไม่ไหลย้อนกลับ KidBright เปิด Open Source ชวนทุกคนมาลงเรือลำเดียวกัน ใช้ศักยภาพที่หลากหลายช่วยกันพัฒนา KidBright ให้เท่าทันเทคโนโลยี

เพราะอนาคตการศึกษาไทยอยู่ในมือของคนไทยทุกคน

 

KidBright Ecosystem

“ที่ใดมีระบบนิเวศ ที่นั่นมีความยั่งยืน”

ระบบนิเวศสำคัญต่อธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย หากขาดเพียงห่วงโซ่ใดไปทั้งหมดอาจสูญสลาย เช่นเดียวกันกับ KidBright มีผู้ผลิต ผู้ใช้ แต่ไร้การพัฒนา ก็จบเป็นนวัตกรรมล้าหลังก้าวไม่ทันเทคโนโลยี

การเปิดตัว KidBright Open Source ทำให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) หนึ่งอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะการศึกษาไทย . . .

kidbright-ecosystem

 

3 ส่วนสำคัญของ KidBright Ecosystem

1. เมกเกอร์ (Makers)

ขึ้นชื่อว่านักพัฒนา คงไม่ถามถึงบทบาทและศักยภาพ เมื่อ KidBright Open Source ผลงานสร้างสรรค์จากการพัฒนาบอร์ด KidBright ก็เกิดขึ้นมากมายด้วยฝีมือของเมกเกอร์ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดขยายความสามารถ (Extension Board) ปลั๊กอิน (plug-in) เซนเซอร์ (Sensors) รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำนำเทรนด์ของเทคโนโลยี

kidbright-ecosystem

 

2. บุคลากรทางด้านการศึกษา

อุปกรณ์เสริมหลากหลายจากการพัฒนาของเมกเกอร์ เข้ามาปลดล็อคกรอบความคิดของเด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการอย่างอิสระ

ครูผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้บอร์ด KidBright เพื่อพัฒนาบทเรียนและสื่อการสอนไม่เฉพาะกับการสอน Coding แต่สามารถบูรณาการกับวิชาอื่น ๆ ได้ทุกวิชาตามแนวการศึกษารูปแบบใหม่ STEM Education (Science Technology Engineering Mathematics) ที่จะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งลูกเราหลานเรา จะสามารถเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณ คณิตศาสตร์ และการผสมแสงสี RGB ในวิชาวิทยาศาสตร์ และฟิสิกส์ ผ่านสื่อแค่ชิ้นเดียว พร้อมแสงสีเสียงดนตรีประกอบการเรียนรู้อีกด้วย

kidbright-ecosystem

 

“เปียโนกระดาษ สื่อการสอนวิทยาศาสตร์หลากมิติ”

นี่เป็นเพียง 1 ใน 20 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบจากโครงการ KidBright: Coding at School for Teacher “KruKid Contest”” เวทีที่เปิดโอกาสให้คุณครูทั่วประเทศแสดงศักยภาพพัฒนาสื่อการสอนสร้างสรรค์จากบอร์ด KidBright ก่อนจะได้รู้พร้อมกันว่าโรงเรียนใดจะเป็นผู้คว้าชัยชนะ ในวันที่ 27 พ.ย. นี้ . . .

ตามไปชมสื่อสร้างสรรค์ของโรงเรียนที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 20 ผลงานกันก่อนที่นี่

หนึ่งยอดเข้าชมของทุกคน ก่อเกิดช่องทางแบ่งปันสื่อการสอนทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ สู่เครือข่ายการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สื่อการสอนให้กับครูอาจารย์ทั่วประเทศ

3. ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ฝ่ายนโยบาย

นโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 สนับสนุนให้เกิดโครงการเพื่อการศึกษาเรื่อยมา

2 เรื่องใหญ่จากระบบนิเวศของ KidBright ที่ไม่ได้มีดีแค่ตอบโจทย์การศึกษาไทย

  1. เกิดอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ จุดเริ่มต้นของขยับเศรษฐกิจสู่ไทยแลนด์ 4.0
  2. ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ
kidbright-ecosystem

 

จากจุดเริ่มต้นเพื่อการศึกษาของ “KidBright” สู่ KidBright Open Source ให้ทุกคนลงสนามผลักดัน KidBright ไล่ทันเทคโนโลยี เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่มีพลังขับเคลื่อนทั้งการศึกษาและเศรษฐกิจไทยศตวรรษที่ 21

ทั้งหมดไม่ใช่ปลายทางของ KidBright ตราบใดที่โลกดิจิทัลยังไม่หยุดหมุน KidBright ยังคงก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางเทคโนโลยีที่แซงไม่ได้ ไล่ไม่ทัน แต่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนา KidBright เครื่องมือต่อยอดกระบวนการคิด พัฒนาทักษะชีวิตศตวรรษที่ 21 ของทุกคนต่อไป

“KidBright” เตรียมเผยไพ่ใบใหม่ล่าสุด สู้กับเทคโนโลยีอีกครั้ง . . .

ไพ่ใบใหม่ของ KidBright คืออะไร ?
หนึ่งทางเลือกของการสร้าง “ทักษะศตวรรษที่ 21” จะพัฒนาไปในทางไหน ?
รู้พร้อมกัน !! ในมหกรรม “รวมพลคน KidBright”

พบกับเหล่าเมกเกอร์ที่จะมาให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจด้วยผลงานต่อยอดจากบอร์ด KidBright หลากหลายไอเดีย พร้อมกิจกรรมร่วมสนุก คิด ทดลอง เสริมสร้างจินตนาการให้ลูก ๆ ของคุณ

🗓 พบกัน : 27 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9.00 – 16.00 น.
📍 พิกัด : สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 2 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
 kidbright

 

วันที่เผยแพร่ 18 พฤศจิกายน 2562 10:05